23 พฤศจิกายน 2565 ที่ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติด้านเวชสารสนเทศ ครั้งที่ 11 และการประชุมวิชาการสมาคมเวชสารสนเทศไทย ครั้งที่ 31 ประจำปี พ.ศ.2565 โดยมี แพทย์หญิงจามรี เชื้อเพชระโสภณ นายกสมาคมเวชสารสนเทศไทย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรจากภาครัฐและเอกชน ร่วมประชุมกว่า 400 คนพร้อมมอบประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาล และประกาศเกียรติคุณการพัฒนาคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาล
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มีต่อมิติการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ จึงให้ความสำคัญและสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบราชการของประเทศ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่าน Digital Healthcare ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวงการแพทย์และการบริการด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือการให้คำปรึกษาทางไกล การจัดระบบส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อลดปัญหาความแออัดและลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น ทำให้สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลทั่วประเทศพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นเรื่องการจัดการข้อมูลให้เกิดความปลอดภัย และการพัฒนาคุณภาพข้อมูลในระบบฐานข้อมูล ให้เป็นข้อมูลที่มีคุณภาพ สามารถนำมาใช้อ้างอิงและนำมาวางแผนการจัดการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การจัดการคุณภาพด้าน IT ตั้งแต่พื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาคุณภาพในการดูแลสุขภาพและการจัดบริการสุขภาพในอนาคต เพราะจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชน ผู้ป่วย ชุมชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบแทนที่จะเป็นผู้รับอย่างเดียว เช่น การนำ Internet of Things (IoT) มาปรับใช้กับระบบข้อมูลผู้ป่วย โดยนำข้อมูลต่าง ๆ มาประมวลผลให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้ AI ในการจัดระบบบริการให้ดียิ่งขึ้น ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการได้” นายแพทย์โอภาส กล่าว
สำหรับการจัดประชุมในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การบูรณาการการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลทางสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน” Digital Health Technology Integration for Better Quality of Life ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่จะเชื่อมโยงข้อมูล และสร้างนวัตกรรมใหม่ ลดปัญหาความเสี่ยงในการถูกโจมตีด้านความปลอดภัย และเพิ่มคุณค่าการนำข้อมูลไปใช้ในการวางนโยบายการดูแลสุขภาพประชาชนในอนาคต อาทิ โรคเรื้อรัง สังคมผู้สูงอายุ และภาวะแทรกซ้อนในโรคอื่นๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ระบบสาธารณสุขไทยได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีคุณภาพ