นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ทีไม่พึงประสงค์ และใช้สำหรับป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผล อาทิ โรคซิฟิลิส โรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี หนองใน หนองในเทียม และเอดส์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา สปสช.ได้บรรจุบริการถุงยางอนามัยเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการถุงยางอนามัยอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ปรับวิธีบริหารจัดการโดยแยกงบประมาณจัดซื้อถุงยางอนามัยสำหรับบริการวางแผนครอบครัวออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว พร้อมให้รวมจัดซื้อถุงยางอนามัยสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยงภายใต้งบประมาณดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผ่านองค์การเภสัชกรรม เพื่อกระจายให้แก่หน่วยบริการทั้งประเทศ
เตรียมแจก 94.5 ล้านชิ้น
ในปี 2566 สปสช. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนบริการถุงยางอนามัยต่อเนื่อง เบื้องต้นได้เตรียมถุงยางอนามัยจำนวน 94,566,600 ชิ้น และสารหล่อลื่นสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ซึ่งจะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
ผู้ที่ประสงคํ สามารถเข้ารับบริการถุงยางอนามัยได้ที่
1. หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้านยา และคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
2. การลงทะเบียนผ่านแอบพลิเคชัน “เป๋าตัง” บนสมาร์ทโฟน
3. ในกรณีผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนรับบริการได้ที่หน่วยบริการโดยตรง
ถุงยาง 4 ขนาดครอบคลุมทุกความต้องการ
สำหรับขนาดถุงยางอนามัยที่จัดให้ จะมี 4 ขนาดด้วยกัน คือ
1.ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มม.
2.ถุงยางอนามัย ขนาด 52 มม.
3.ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มม. และ
4.ถุงยางอนามัย ขนาด 56 มม.
ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการและสามารถเลือกขนาดถุงยางอนามัยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน
“ทั้งนี้ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ขณะเดียวกันยังช่วยลดปัญหาภาวะท้องไม่พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่มีความพร้อม ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก และการกระจายถุงยางอนามัยภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทองนี้ จะเป็นการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นวิถีชีวิต สำหรับป้องกันโรคและดูแลสุขภาพที่ดีของตนเอง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นำร่อง ตู้ถุงยางอัตโนมัติ ในพัทยา วาเลนไทน์นี้
เลขาธิการ สปสช. เผยด้วยว่า ในช่วงวาเลนไทน์ปีนี้ จะเริ่มต้นโครงการนำร่อง แจกจ่ายถุงยางอนามัย ผ่านตู้อัตโนมัติ ในพื้นที่ เมืองพัทยา ก่อน
“สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการถุงยางอนามัยผ่านตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติ ซึ่งจะนำไปติดตั้งนอกหน่วยบริการหรือในชุมชนเพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกไปรับบริการถุงยางอนามัยที่หน่วยบริการ เบื้องต้นจะนำร่องติดตั้ง 3 จุดบริการในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี กำหนดดีเดย์เริ่มให้บริการวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ซึ่งตรงกับ “วันวาเลนไทน์” ก่อนขยายไปทั่วประเทศต่อไป”
สำหรับด้านการป้องกันเอชไอวี สปสช.ยังคงสนับสนุนหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เพื่อให้บริการถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และบริการด้านเอชไอวีตามสิทธิประโยชน์เช่นเดิม