7 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการเพิ่มราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (ซาอุดีอาระเบีย) ในรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และอยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 30 วัน (ผ.30)
ครม. ได้ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง [กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
- Free Visa (ผ.30) คือ ผู้ถือหนังสือเดินทางจะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ซึ่งประเทศที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา มีทั้งหมด 56 ประเทศ
- Visa on Arrival (VOA) คือ วีซ่าที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถขอได้ ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศเพื่อการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน โดยที่ไม่ต้องทำวีซ่ล่วงหน้า (ทำวีซ่าเมื่อถึงประเทศไทย) ซึ่งประเทศที่ได้รับสิทธิการขอวีซ่าประเภทนี้ มีสัญชาติของ 18 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ เท่านั้น
ความเป็นมา
ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนชาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ (ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2565) ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งผลการหารือที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมการติดต่อระหว่างภาคประชาชน โดยจะทำให้มีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะอนุญาตให้ซาวชาอุดีอาระเบียเดินทางมายังประเทศไทย (ปีละประมาณ 30,000 คน) ด้วยเหตุผล ดังนี้ (1) การเข้าร่วมการประชุมสัมมนา การแข่งขันกีฬา/วัฒนธรรมนานาชาติ (2) การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย (3) การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในเรื่องที่เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า (4) การรักษาพยาบาล (5) การเยี่ยมญาติของนักการทูต และ (6) การเยี่ยมเยียนครอบครัวในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าภายหลังจากการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่ระดับปกติจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 100,000 – 150,000 คนต่อปี
สถานะวีซ่าซาอุดิอาระเบีย
ปัจจุบันผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางชาวซาอุดีอาระเบียสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) โดยสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 15 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562 และสามารถขอรับการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวได้ที่สถานเอกอัศรราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทยในต่างประเทศ และสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ในขณะที่คนชาติของกลุ่มประเทศความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับอื่น ๆ (Gulf Cooperation Council: GCC) ได้แก่ รัฐกาตาร์ ราชอาณาจักรบาห์เรน รัฐคูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัฐสุลต่านโอมาน สามารถเดินทางมายังประเทศไทยได้โดยใช้สิทธิ ผ.30
กต. ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มท. สตม. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) และกรมการกงสุล เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทุกหน่วยงาน ไม่มีข้อขัดข้องต่อการเพิ่มซาอุดีอาระเบียในรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เนื่องจากสอดคล้องกับนโยนายของรัฐบาลในการส่งเสริมการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ ชาวซาอุดีอาระเบียยังเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีการใช้จ่ายสูงและมักเดินทางเป็นครอบครัวขนาดใหญ่
ได้ประโยชน์จากการยกเว้น
กต. เห็นว่า การเพิ่มซาอุดีอาระเบียในรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกการเดินทางและการติดต่อระหว่างภาคธุรกิจ และประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังจากการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนของทั้งสองประเทศต่อไป รวมถึงเพื่อที่ซาอุดีอาระเบียจะได้รับสิทธิการตรวจลงตราเท่าเทียมกับประเทศ GCC อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
คาดว่ามาตรการนี้จะทำให้ชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 100,000 - 150,000 คนต่อปี จากเดิมประมาณปีละ 30,000 คน ซึ่งส่วนเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสัมมนา แข่งขันกีฬา ติดต่อธุรกิจนำเข้าสินค้าจากไทย รักษาพยาบาล และเยี่ยมครอบครัวในไทย