ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

มูลนิธิรามาธิบดีฯ สรุปผลงานปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566

มูลนิธิรามาธิบดีฯ สรุปผลงานปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 Thumb HealthServ.net
มูลนิธิรามาธิบดีฯ สรุปผลงานปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 ThumbMobile HealthServ.net

“มูลนิธิรามาธิบดีฯ เผยสรุปผลการทำงานในปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 เพื่อสานต่อแนวคิดความสุขจากการให้...ไม่สิ้นสุด” ผลลัพธ์แห่ง “การให้” จากประชาชนในปีที่ผ่านมา ในวาระที่มูลนิธิรามาธิบดีฯจะมีอายุครบ 54 ปี ในปี พ.ศ. 2566 นี้

มูลนิธิรามาธิบดีฯ สรุปผลงานปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 HealthServ
ในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯจะมีอายุครบ 54 ปี ตลอดการดำเนินงานเรามุ่งมั่นทำงานในฐานะองค์กรการกุศลที่มีภารกิจในการระดมทุนเพื่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งผลลัพธ์จากการให้ของประชาชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถูกแสดงให้เห็นผ่านการให้บริการทางการแพทย์ และการผลิตบุคลากรการแพทย์ในฐานะโรงเรียนแพทย์ โดยจะเห็นได้จากความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาวที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ระดมทุน ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิรามาธิบดีฯ มีโครงการระดมทุนหลายโครงการด้วยกัน เช่น
 
  1. โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี
  2. โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
  3. โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้
  4. โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี
  5. โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน
  6. โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด


 
มูลนิธิรามาธิบดีฯ สรุปผลงานปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 HealthServ
มูลนิธิรามาธิบดีฯ สรุปผลงานปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 HealthServ

ปี 2566 มี 2 โครงการหลักที่ต้องเร่งระดมทุน

โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯมีโครงการหลักที่จะต้องเร่งระดมทุนใน 2 โครงการดังนี้
 
 

โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี

โครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ที่จะทำหน้าที่ทดแทนอาคารเดิม ผู้ป่วยที่มาใช้บริการสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มศักยภาพเทียบเท่าอาคารเดิม มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการ ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อนซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้โครงการนี้เป็นพื้นที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน เพื่อร่วมพัฒนาต่อยอดในด้านสาธารณสุขของประเทศให้มีศักยภาพในระดับสากล สามารถแข่งขันได้ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ได้ต่อไป
โครงการนี้จะเป็นอาคารสูง 25 ชั้นและมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า โดยคาดการณ์ว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ถึง 2.5 ล้านครั้งต่อปี และให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 55,000 คนต่อปี  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ 2571 (อีก 5 ปีข้างหน้า) และแม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐบางส่วน แต่โครงการยังคงขาดงบประมาณด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท 

โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้

เป็นโครงการเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งมูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท ได้แก่ ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช ภิกษุ แม่ชี ผู้ป่วยเร่ร่อน ผู้ป่วยจากภัยพิบัติ  ผู้ป่วยต่างด้าว รวมถึงผู้ป่วยระดับกลางที่ใช้สิทธิประกันตน หรือใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิหลายกรณี เช่น สิทธิไม่ครอบคลุมบางโรค ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ผู้ป่วยต้องชำระเพิ่มเติมเอง นอกจากนี้ยังช่วยเหลือครอบคลุมไปดูแลปัญหาด้านจิตใจ ครอบครัว และช่วยค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากรามาธิบดี มีความเชี่ยวชาญ และเป็นความหวังของผู้ป่วยทางด้านโรคซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาสูงมาก และใช้ระยะเวลาการรักษาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยใน แต่ละปีมูลนิธิได้ใช้งบประมาณการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีรายได้ถึง 40% และการช่วยเหลือส่วนที่เหลือไปยังผู้ป่วยผู้มีรายได้ต่ำ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นผู้ป่วยเด็กและผู้สูงวัยกว่า 57%


ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาสัดส่วนเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้คิดเป็น 19% จากโครงการทั้งหมดที่มูลนิธิระดมทุนอยู่ โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยยากไร้รายใหม่ที่ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิฯเพิ่มขึ้นกว่า 4% เมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2564

แคมเปญ “ความสุขจากการให้...ไม่สิ้นสุด”

แคมเปญที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์แห่ง “การให้” จากน้ำใจของคนไทยผ่านการรวบรวมเสียงแทนคำขอบคุณของเหล่าผู้ป่วยภายใต้โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ที่ได้รับการช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลจากน้ำใจของคนไทย และเพื่อตอกย้ำว่า “การให้” จาก “ผู้บริจาค” ที่ส่งต่อความสุขไปยังผู้รับหรือ “ผู้ป่วย”ยังทำให้เกิดความสุขอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น ความสุขของผู้บริจาคที่ได้เห็นผู้ป่วยหายดีได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือการมอบทุนทรัพย์ให้กับนักศึกษาผ่านโครงการ “ทุนการศึกษารามาธิบดี” เพื่อมุ่งสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้นำความรู้มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมไทย หรือแม้กระทั่งความสุขที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตและโครงการต่างๆที่มูลนิธิให้การดูแลอยู่อีกมากมาย
 
 

เทรนด์การทำกิจกรรมด้านการกุศลของคนยุคใหม่

เพราะคนไทยมีน้ำใจและถูกปลูกฝังให้ช่วยเหลือกัน ทุกครั้งที่เกิดความต้องการเร่งด่วน อย่างเหตุการณ์โรคอุบัติใหม่ อุบัติภัยทางธรรมชาติ การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่ คนไทยก็จะร่วมช่วยเหลือตามกำลังที่มี  นอกเหนือจากการบริจาคเงิน อาจจะเป็นการให้แรงกาย แรงใจ ความสามารถเป็นจิตอาสา บางคนก็ช่วยเหลือโดยการบอกต่อ กดไลค์ กดแชร์ สำหรับมูลนิธิรามาธิบดีฯ เราเชื่อว่าการให้จากทุกน้ำใจนั้นมีคุณค่า และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกมาก


ความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้
เป็นสิ่งที่คนในสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งตรงกับหลักการบริหารจัดการของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในทุกโครงการของเรามีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน และนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริหาร ซึ่งท้ายที่สุด ความคืบหน้าและผลลัพธ์ของแต่ละโครงการนั้นสามารถก่อประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

 
Online Donation ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำบุญออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ เองได้ทำการปรับปรุงการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัยตลอดมา บนพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้ผู้บริจาคสะดวกสบายที่สุด รวมถึงช่องทางการสนับสนุนของที่ระลึกการกุศลทางออนไลน์อีกด้วย ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีเองก็มี ช่องทางการรับบริจาคออนไลน์ที่จัดทำมามากกว่า 10 ปี และจากปีที่ผ่านมาสัดส่วนการบริจาคออนไลน์ (ดูจากจำนวนใบเสร็จ) อยู่ที่ 63 % โดยที่การบริจาคแบบออฟไลน์อยู่ที่สัดส่วน 37% ซึ่งการบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดการระบาดของโควิด-19
 
 
 

Generation ของกลุ่มผู้บริจาคในปีที่ผ่านมาและแผนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในปี 2566

  • สัดส่วนกลุ่มผู้บริจาคบุคคลธรรมดากว่า 40% ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ มาจากผู้บริจาคกลุ่ม Gen X ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยมีสัดส่วนของผู้บริจาคที่อยู่ในช่วงอายุ 45-60 ปี และ 60 ปีขึ้นไปใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริจาคที่มียอดบริจาคต่อรายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริจาคบุคคลธรรมดาในช่วงอายุอื่น ๆ
  • จากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาระหว่างปีพ.ศ. 2563-2564 มูลนิธิฯ มียอดบริจาคจากกลุ่ม Gen Z (9-24 ปี) สูงขึ้น 2 เท่าจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 จากการระดมทุนเพื่อโครงการเร่งด่วน และเห็นผลลัพธ์จากการให้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้น โดยในปีพ.ศ. 2565 ยอดบริจาคจากผู้บริจาคกลุ่มนี้ลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงมียอดบริจาคสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19
  • ในแง่ของการสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้นำเอาความชื่นชอบของคนกลุ่มนี้มาพัฒนาการทำงานมากขึ้น เช่น การจัดทำของที่ระลึกโดยใช้การ์ตูนคาแรคเตอร์ที่ได้รับความนิยม เช่น ไลน์เฟรนด์ (LINE Friends), เฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty), สนูปี้ (Snoopy) ฯลฯ หรือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นศิลปินกลุ่มคนรุ่นใหม่มาช่วยโปรโมทแคมเปญต่างๆ เช่น การเปิดตัวของที่ระลึกการกุศล Power of Giving เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ได้ตัวแทนจากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของไทย เช่น PAINKILLER Atelier, Kloset & Etcetera, DISAYA, Greyhound Original, SMILEYHOUND มาร่วมงาน นอกจากนี้ในหน้า Facebook แฟนเพจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ยังมีการทำคอนเทนต์เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เช่น คอนเทนต์วอลเปเปอร์เสริมความสุข...ไม่สิ้นสุด 12 ราศี พร้อมเลขมงคล จากอาจารย์ไวท์ หมอดูโอปป้า เพื่อสร้างความหลากหลายของคอนเทนต์ที่เราสื่อสารออกไป
  • ในส่วนของแผนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในปีนี้มูลนิธิยังคงมีการร่วมมือกับแบรนด์ลิขสิทธิ์แท้ Peter Rabbit และ My Melody ถือเป็นความพิเศษที่มูลนิธิมีความตั้งใจเพิ่มความหลายหลาย ผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ทุกท่านได้เข้าถึงการทำบุญได้มากยิ่งขึ้น 

มูลนิธิรามาธิบดีฯ

มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดูแลให้คนไทยทุกคน ทุกระดับชั้น มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนมาเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งการระดมทุนที่ผ่านมานั้น สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ได้หลายหมื่นรายต่อปี รวมถึงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งเป็นไปตามหลักปณิธานของมูลนิธิรามาธิบดีฯที่ว่า "การให้สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนคือการให้อันยิ่งใหญ่และไม่สิ้นสุด"
 
• โทร. 022012222
• LINE @ramafoundation 
• Website  www.ramafoundation.or.th
• Facebook /RamaGiveShop
 
เลือกชมของที่ระลึกจุดจำหน่ายของที่ระลึกของมูลนิธิรามาธิบดีฯ
www.ramafoundation.or.th
• LINE SHOPPING คลิก shop.line.me/@ramafoundation
• Robinhood Mart 

โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์

270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด