โครงการอบรมช่วยชีวิต BDMS นี้ เป็นโครงการต่อเนื่องภายใต้แนวคิด "ฮีโร่ในชีวิตจริงไม่ต้องมีพลังพิเศษเหนือใคร" โดยมองว่ากลุ่มไรเดอร์เป็นกลุ่มคนที่เดินทางไปหลายพื้นที่ อาจจะประสบพบเจอคนหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือประสบเจอเหตุอื่นๆ หากไรเดอร์สามารถช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นได้ อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ประสบเหตุมากขึ้น
ในครั้งนี้ มีทีมไรเดอร์จากโรบินฮู้ดกว่า 100 คนเข้าร่วมอบรมและฝึกฝน โดยมีวิทยากรจากโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ที่มีประสบการณ์ ให้การฝึกสอนและทดลองทำอย่างใกล้ชิด
ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์จากการอบรม
นายสวราช กาญจนะวงศ์ หนึ่งในไรเดอร์โรบินฮู้ดที่เข้าร่วมโครงการ เปิดใจว่าหลังอบรมเสร็จได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเพราะขับรถไปตามถนนทุกวันหากเจอคนที่ต้องการความช่วยเหลือจะทำให้สามารถช่วยชีวิตได้ทันถ่วงที ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์อย่างมาก
"ได้ลองทำ ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เกิดความมั่นใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะบางครั้ง เรารู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้าง เราก็ไม่มั่นใจ วันนี้เรามั่นใจแล้ว โครงการนี้ควรมีต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหน ตอนนี้โรบินเริ่มแล้ว เริ่มมาประมาณสามสี่รุ่นแล้ว ผมอยากให้ไรเดอร์ทุกค่าย ทุกคนได้ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้"
ดร.พงศ์ศักดิ์ ตฤณธวัช ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมโรบินฮู้ด ระบุว่าอยากให้มีโครงการแบบนี้ต่อไป โดยปี 2566 พร้อมตั้งเป้าจัดกิจกรรมให้ไรเดอร์โรบินฮู้ด เข้าร่วมในปีนี้อีกกว่า 1,000 คน
"ผมถือว่าไรเดอร์เป็นผู้ที่สัมผัสและมีโอกาสที่จะเจอผู้ประสบเหตุ ประชาชน บนท้องถนนมากกว่าใคร เพราะทำงานบนท้องถนนตลอด การฝึกช่วยชีวิตโดยเฉพาะซีพีอาร์นี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะไรเดอร์จะได้นำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดอัตราการสูญเสียได้มากขึ้น"
นพ.องค์การ คมสัน อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีมากๆ ที่กลุ่มไรเดอร์เข้ามาอบรม และมาเรียนรู้การช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น โครงการนี้ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อช่วยคนใกล้ตัว และคนอื่นในสังคม
"ทุกวันนี้ทางเครือ BDMS มีการฝึกอบรมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในเครือโรงพยาบาลเอง หรือว่าในกลุ่มคนทั่วไป กลุ่มที่เราเพ่งเล็งต่อไปและคาดว่าน่าจะได้ประโยชน์เยอะ คือกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ตามโรงเรียนทั่วไป เพราะเค้าเป็นเด็ก เค้าจะโตไปอีก โอกาสที่จะช่วยคนให้รอดชีวิตและกลับมาสู่สังคม มีอีกเยอะมาก สำหรับผมที่เป็นหมอหัวใจอยู่แล้ว เราเจอคนไข้กลุ่มนี้เยอะมาก จริงๆ ถ้าไม่คนกลุ่มแรกที่จะทำการช่วยชีวิต ปั๊มหัวใจคนไข้มาก่อน คนไข้คนนั้นจะไม่มีโอกาสที่จะมาถึงโรงพยาบาลเลย และเราก็จะไม่มีโอกาสที่จะได้รักษาหรือช่วยเขาหรือทำให้เขารอดชีวิตได้เลย ดั้งนั้นการช่วยชีวิตเบื้องต้นขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้เป็นสิ่งเล็กๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก และขาดไม่ได้เลย "
สำหรับการจัดอบรมช่วยชีวิตเบื้องต้นโดย BDMS ตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 50,000 คน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งได้รับความสนใจและร่วมมือเป็นทุกส่วนเป็นอย่างมาก จึงวางแผนเตรียมขยายโครงการออกไปอีกหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เพราะกลุ่มนี้เป็นเด็กที่กำลังเติบโต มีโอกาสช่วยคนให้รอดชีวิตได้อีกมาก
ความเป็นมาโครงการ BDMS อบรมการช่วยชีวิต
โครงการ "BDMS อบรมการช่วยชีวิต" เกิดขึ้นวาระครบรอบ 50 ปี ของกลุ่มบริษัท BDMS ร่วมกับโรงพยาบาลในเครือทั่วประเทศ จัดการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชน เพื่อสร้างผู้มีความสามารถในการช่วยชีวิต รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และลดอัตราพิการของผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนสร้างเครือข่ายอาสาภายในชุมชนของตัวเอง ในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ประสบเหตุก่อนถึงมือแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
การอบรมเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผู้มีความสามารถในการช่วยชีวิตตลอดโครงการในปี 2565 อย่างน้อย 5,000 คน การอบรมจะแยกกลุ่มตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 12 – 65 ปี โดยมีวิทยากรการกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS Instructor) มาบรรยายและให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาล และช่วยชีวิตขั้นเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกกับหุ่นและในสถานการณ์จำลอง นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการสาธิตเรื่องระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ขั้นตอนการแจ้งเหตุฉุกเฉิน การประเมินอาการผู้ป่วย การช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะหยุดหายใจ หรือหัวใจกำลังจะหยุดเต้น (CPR) รวมถึงการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ฯลฯ โดยการอบรมจะจัดขึ้นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด