ตามที่ กรมอนามัย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกันเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัย ความร้อนแก่ประชาชน ซึ่ง
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงฤดูร้อน ปี 2566 นี้ ประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนในตอนกลางวันหลายพื้นที่ แต่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า
และในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ คาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 40 - 43 องศาเซลเซียส ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน
สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 38 – 39 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วง ประกอบกับมีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งฤดูร้อนจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันสุขภาพของประชาชน จึงร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาดำเนินการเฝ้าระวังและสื่อสารเตือนภัยด้านสุขภาพในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนด้วยอนามัยโพล เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากความร้อนตั้งแต่อาการเล็กน้อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นตะคริวจากความร้อน มีผื่นแดงตามผิวหนัง หรืออาจมีอาการรุนแรงจนเป็นโรคฮีทสโตรก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และผู้มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานหนักกลางแจ้ง เช่น งานก่อสร้าง เกษตรกร
“กรมอนามัยจึงขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองจากความร้อน ได้แก่ ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงกลางวันหรือช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ หากอุณหภูมิสูงสุดขึ้นไปที่ 43 องศาเซลเซียส ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหมั่นสังเกตอาการเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก ได้แก่ เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงง ตัวร้อนจัด ผิวหนังเป็นสีแดงและแห้ง โดยหากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรกให้รีบตามแพทย์ หรือโทร 1669 และพาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่มหรือห้องมีความเย็น จัดผู้ป่วยให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง รวมถึงถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็นเพื่อระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดทางเดินหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ สามารถรับคำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อนได้ที่เว็บไซต์กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (https://hia.anamai.moph.go.th/th) และ Facebook กรมอนามัย และกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว