นักวิชาการเผยจากผลงานวิจัยโภชนาการเด็กในงานประชุมวิชาการด้านโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 16 หัวข้อ “การแก้ปัญหาช่องว่างทางโภชนาการในเด็กเล็ก” จัดโดยสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็ก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 พบว่าทารกและเด็กไทยอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 5 ปี ประสบปัญหาภาวะโภชนาการขาดหรือเกิน และขาดสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เสนอแนะให้ปรับการบริโภคอาหารให้เหมาะสม โดยรับประทานอาหารครบทุกกลุ่ม ได้แก่ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม รับประทานอาหารแต่ละกลุ่มให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพดี
รศ.พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร นายกสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการในทารกและเด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี ของ SEANUT II พบว่าเด็กไทยมีภาวะ Triple burden of malnutrition ได้แก่ ตัวเตี้ย/ น้ำหนักเกิน/ อ้วน และภาวะความหิวซ่อนเร้น (การขาดสารอาหารรอง) เด็กไทยมีภาวะตัวเตี้ย 1 ใน 16 หรือประมาณร้อยละ 6.2 อยู่ในระดับที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ ภาวะน้ำหนักเกิน/ อ้วน ในเด็กวัยเรียนซึ่งพบมากถึงร้อยละ 30-32 ในขณะที่การขาดสารอาหารรอง (micronutrients) เป็นอีกปัญหาที่สำคัญ พบว่าสารอาหารรองที่เด็กไทยได้รับไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร (problem nutrients) มี 6 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี โดยเด็กไทยได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอร้อยละ 94 ตามด้วยแคลเซียม สังกะสี วิตามินซี และวิตามินเอร้อยละ 76, 72, 67 และ 54 ตามลำดับ
การขาดสารอาหารเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะการขาดธาตุเหล็กและสังกะสี ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจาง มีผลต่อพัฒนาการสมองและภูมิคุ้มกันของร่างกาย การขาดแคลเซียมมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูก การขาดแคลเซียมพบมากในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมวันละ 2 แก้วหรือกล่อง แต่เด็กมักดื่มนมเพียงวันละ 1 กล่องเท่านั้น นอกจากนี้สารอาหารอื่นที่ขาด ได้แก่ สังกะสี เนื่องจากการรับประทานเนื้อสัตว์น้อย การขาดวิตามินซี เกิดจากการรับประทานผักและผลไม้น้อย ส่วนวิตามินดีเป็นสารอาหารที่พบน้อยในอาหารที่ทารกและเด็กได้รับ ในภาวะปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด แต่ปัจจุบันเด็กไม่ค่อยเล่นกลางแจ้ง จึงทำให้ขาดวิตามินดี รศ.พญ.สุภาพรรณ กล่าว
รศ.พญ.สุภาพรรณ ให้แนวทางแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร 3 วิธี ได้แก่
1. รับประทานอาหารตามธรรมชาติ ให้ครบ 5 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม แต่ละกลุ่มให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอ
2. รับประทานอาหารที่เสริมสารอาหาร (fortified food) เช่น ข้าวเด็กหุงสุกเร็วมีการเสริมธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม และวิตามินบี 1 น้ำปลาและซีอิ๊วมีการเสริมธาตุเหล็กและไอโอดีน และนมสำหรับเด็กเล็กเติมสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็กและวิตามินดี ช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น
3. รับประทานเสริมในรูปยา วิธีนี้เหมาะสำหรับรายที่ขาดสารอาหาร หรือในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร ได้แก่ การให้ยาธาตุเหล็กเสริมในทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกอายุ 6 เดือน – 2 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร คือ การรับประทานให้ครบ 5 กลุ่ม อย่างหลากหลายและเพียงพอ ร่วมกับติดตามการเจริญเติบโต โดยชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม
ด้าน ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและกรรมการมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพฯ เสริมว่า ในด้านองค์ความรู้ด้านโภชนาการ ของไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุง เพราะมีการค้นพบจากงานวิจัยใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในส่วนของนม อาหารหลักสำหรับเด็กเล็ก เราพบว่าแม้เด็กจะดื่มนมแม่ ก็จำเป็นที่ต้องได้รับสารอาหารจากอาหารตามวัย ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ที่เด็กควรเริ่มเรียนรู้การรับประทานอาหารอื่นๆ ตาม “ข้อแนะนำอาหารตามวัย” ของเด็กแต่ละวัย และหลังอายุ 1 ปีไปแล้วสามารถดื่มนมเสริมอาหารที่จะช่วยเสริมสารอาหารที่ได้รับไม่เพียงพอหรือขาดหายไป เพื่อให้เด็กได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย
นอกจากนี้จากการศึกษาเรื่องคุณภาพของนมแม่ เราพบว่านมแม่ ของคุณแม่ในแต่ละภูมิภาคมีสารอาหารบางตัวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาหารที่คุณแม่รับประทาน เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานไป จะมีผลต่อการสร้างสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามิน และกรดไขมันในน้ำนมให้กับเด็กแรกเกิด เช่น คุณแม่ที่อาศัยอยู่ ทางภาคใต้ จะมีปริมาณสารอาหาร DHA หรือกรดไขมันในตระกูลโอเมก้า 3 ในนมแม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของสมองเด็ก มากกว่าในนมแม่ของคุณแม่ในจังหวัดอื่น เพราะคุณแม่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ริมทะเล จึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารปลาทะเลที่มีปริมาณโอเมก้า 3 สูง แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของน้ำนมแม่นั้น สามารถมีคุณภาพที่ยิ่งดีมากขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสารอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตัวคุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อให้นมแม่มีสารอาหารสำคัญเพียงพอต่อความต้องการของลูก
ดังนั้น ข้อแนะนำการบริโภคสำหรับแม่ในช่วงให้นมลูก ตาม “ธงโภชนาการสำหรับแม่ให้นมลูก” จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากแม่ขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เด็กก็จะไม่ได้รับสารอาหารที่สำคัญอย่างครบถ้วนและเพียงพอ
รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ อดีตประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปทิ้งท้ายว่า มีสารอาหารหลายอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนมีแสงแดดตลอด เด็กไทยจะขาด วิตามินดี ที่ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์ได้จากแสงแดด สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการใช้ชีวิตและการเลี้ยงดูบุตรเปลี่ยนแปลงไป
โดยสรุป เราจึงควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ครบ 5 หมู่ หลากหลายและเพียงพอ ไม่น้อยหรือมากเกินไป จะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารสำคัญ และสารอาหารอื่นๆ เพียงพอในแต่ละวัน ช่วยลดช่องว่างด้านโภชนาการของเด็กไทยได้ดี