15 กันยายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเข้มข้นมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ในการป้องกันโรคโควิด 19 ส่งผลให้โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่ระบาดลดลงด้วย
แต่ขณะนี้เริ่มพบว่าโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตามปกติแล้วช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เป็นช่วงการแพร่ระบาดตามฤดูกาลของโรคไข้หวัดใหญ่ จึงมีโอกาสพบผู้ป่วยจำนวนมากได้อยู่แล้ว ประกอบกับหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 หลายคนลดความเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย มีกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันและไม่สวมหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ รับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน ทำให้มีโอกาสที่โรคติดต่อทางเดินหายใจ อย่างโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 กันยายน 2565 มีรายงานผู้ป่วย 22,922 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วย 6,425 ราย ซึ่งผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ส.ค. 64 ผู้ป่วย 283 ราย) และกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดในปีนี้ คือ เด็กแรกเกิด - 4 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ที่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อุดรธานี นราธิวาส พะเยา พัทลุง และเชียงราย
ข้อน่ากังวัลสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่าโรคจะรุนแรงขึ้นหากเกิดในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หากกลุ่มนี้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
สาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด 19 ลดลงต่อเนื่อง เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมามีการระบาดในวงกว้าง ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ และยังมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% ทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่
“ช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 หลายคนลดความเคร่งในการสวมหน้ากากอนามัย และมีกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก เช่น งานเลี้ยงทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน จึงทำให้โรคติดต่อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดหวัดใหญ่อาจกลับมาระบาดได้ นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้โรคโควิด 19 ลดลง คือ ในช่วงที่ผ่านมามีการระบาดของโรคโควิด 19 ในวงกว้าง ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90% ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ลดลง ดังนั้น การเคร่งครัดมาตรการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการคัดกรอง เฝ้าระวัง และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยงจึงมีความสำคัญ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้” นายแพทย์โอภาส กล่าว
สำหรับการลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำได้ด้วยการเร่งตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่บริการให้ฟรี โดยติดต่อขอเข้ารับวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เดิมให้บริการฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2565 แต่ขณะนี้ ได้ขยายระยะเวลาการให้บริการวัคซีนสำหรับการเก็บตกในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จนถึง 30 กันยายน 65 นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีความจำเป็นแม้ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว โดยสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด 19 ได้ (แนะนำให้ฉีดที่แขนคนละข้าง)
พร้อมกันนี้ การป้องกัน ยังมีความสำคัญ คุมเข้มมาตรการป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันได้ทั้งโรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ไปพร้อมกัน