ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เรื่องยาก ๆ ของการบริหารมหานคร - ดร.พนิต ภู่จินดา

เรื่องยาก ๆ ของการบริหารมหานคร - ดร.พนิต ภู่จินดา Thumb HealthServ.net
เรื่องยาก ๆ ของการบริหารมหานคร - ดร.พนิต ภู่จินดา ThumbMobile HealthServ.net

มหานคร คือเมืองขนาดใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปให้คำจำกัดความว่า เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรมาก ทำหน้าที่ศูนย์กลางทางการบริหารการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศหรือภูมิภาคในประเทศ (ในกรณีที่ประเทศมีขนาดใหญ่แบ่งได้หลายภูมิภาค)

มหานครจึงมีประชากรจำนวนมาก ความหนาแน่นสูง กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกันอย่างสะดวก จึงมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะจำนวนมาก และด้วยการมีกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ละกิจกรรมมีลักษณะแตกต่างกันไป เกื้อกูลเกี่ยวข้องกันบ้าง ไม่เกี่ยวข้องกันบ้าง หรือแม้กระทั่งขัดแย้งกันแย่งทรัพยากรกัน หรือส่งผลกระทบทางลบต่อกันจนอยู่ใกล้กันไม่ได้ก็มี การบริหารจัดการเชิงพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนต่าง ๆ จึงมีความซับซ้อนและยากลำบากกว่าเมืองทั่วไปอยู่ไม่น้อย มหานครจึงเป็นแหล่งรวมของปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องความแออัด ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสม การจราจรติดขัด การจัดการของเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย
 

คนทั่วไปมักมองว่าเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานบริหารจัดการมหานคร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น ส่งผลให้มหานครมีปัญหาต่าง ในหัวของพวกเราคิดว่าถ้าบริหารจัดการได้ดี มหานครก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าลองมองในมุมของการบริหารจัดการมันไม่ง่ายเลย ลองมาดูตัวอย่างของการบริหารจัดการมหานครดูว่าที่เราเห็นบริการสาธารณะทั้งหลาย มันเป็นแต่ยอดของภูเขาน้ำแข็งอันใหญ่โตเท่านั้น ยังมีการทำงานต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังอีกมากมาย

 
 
 เริ่มต้นที่รถไฟฟ้าที่เราใช้บริการกันอยู่ เขาทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้ทำงานแค่เวลาเปิดให้บริการตั้งแต่ประมาณตีห้าจนถึงเที่ยงคืนเท่านั้นหรอก ถ้าเปิดให้ผู้โดยสารใช้งานตีห้า แปลว่า ตีสี่ก่อนเวลาเปิดหนึ่งชั่วโมงต้องมีรถไฟฟ้าวิ่งในระบบเหมือนกับให้บริการจริงแล้ว เพื่อให้เมื่อถึงเวลาเปิดให้บริการจะมีรถไฟฟ้ามารับผู้โดยสารได้ตามสถานีต่าง ๆ ได้ทันที ไม่ใช่เปิดตีห้าแล้วตีห้ารถคันแรกออกจากอู่ที่ตลาดหมอชิต กว่าจะถึงสถานีที่อยู่ไกลหน่อยก็หกโมงเช้าแล้ว ผู้โดยสารไม่ต้องไปทำงานกันพอดี และในช่วงเปิดให้บริการจะมาปิดหรือหยุดเพื่อซ่อมบำรุงก็ไม่ได้ เว้นแต่กรณีฉุกเฉินเท่านั้น

ดังนั้นการบำรุงรักษาและซ่อมแซมต่าง ๆ ก็ต้องทำหลังจากที่ปิดให้บริการหลังเที่ยงคืนไปแล้วเท่านั้น ซึ่งก็มีเวลาซ่อมบำรุงทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น งานจึงต้องรีบทำเปิดงานพร้อม ๆ กันหลายจุดเพื่อให้ทันเวลากับการเปิดให้บริการในวันรุ่งขึ้น อีกทั้งการให้บริการยังต้องได้มาตรฐานที่ดี มีการผลัดเปลี่ยนการใช้รถให้มีเข้าอู่ตรวจสอบการทำงานอย่างถูกต้อง จึงต้องมีรถสำรองเอาไว้หมุนเวียนกันไม่ใช่วิ่งตลอดเวลาจนไม่มีเวลาซ่อมบำรุงตามวงรอบหรือมีคันสำรองมาทดแทนในยามฉุกเฉินได้ทันท่วงมี รถไฟฟ้า BTS ที่เราเห็นวิ่งพร้อมกันมากที่สุดประมาณ 50 ขบวน แต่ต้องมีรถอยู่รวม 52 ขบวน และกำลังจะเข้ามาอีก 46 ขบวนในปี 2563 เพื่อรองรับส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีม่วงให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วนพร้อมกัน 12 ขบวน แต่ต้องมีรถทั้งหมดถึง 21 ขบวน เพื่อสำรองและสับเปลี่ยนมาใช้ในเวลาซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมและรอรับสายสีม่วงใต้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


การจัดหาน้ำประปาเพื่อบริการให้กับประชาชนโดยการประปานครหลวง ต้นน้ำของคลองประปาอยู่ที่อำเภอสำแล จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ห่างปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ่าวไทยถึง 96 กิโลเมตร เนื่องจากเมื่อตอนเริ่มสร้างระบบประปาไทย มีการสำรวจว่าในช่วงหน้าแล้งน้ำเค็มจากอ่าวไทยขึ้นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 80 กิโลเมตรจากอ่าวไทย น้ำดิบเพื่อใช้ผลิตประปาต้องเป็นน้ำจืดไม่ใช่น้ำเค็มหรือน้ำกร่อย จึงต้องไปสร้างต้นคลองประปาตรงที่น้ำเค็มขึ้นไปไม่ถึง แต่ตอนนี้น้ำเค็มขึ้นไปถึงแล้ว ต้องตรวจสอบตารางน้ำขึ้นน้ำลงและตรวจสอบคุณภาพน้ำอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ประชาชนในเขตการประปานครหลวงมีน้ำสะอาดใช้ตามมาตรฐาน ส่วนการระบายน้ำฝนก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม มีทั้งมาตรการป้องกันน้ำเหนือไม่ให้เข้าเขตเมือง ระบายน้ำฝนที่ตกในเมืองออกให้รวดเร็ว และหาพื้นที่ทำแก้มลิงไว้รับน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่สำคัญ

ตัวอย่างเช่นในคลองบางซื่อ ถ้ากรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่ามีเมฆฝนตั้งเค้ามาแล้ว ต้องทำการระบายน้ำให้ลดระดับลง 50 เซนติเมตรเพื่อรอระบายน้ำฝนจากกรุงเทพฯ ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่นั่งเฉย ๆ รอให้น้ำระบายไปเองตามธรรมชาติ

 
บริการอื่น ๆ ก็มีความยากลำบากไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งเราเห็นว่าเขามาเก็บจากหน้าบ้านเรา แต่ก็ยังมีกระบวนการขนส่งไปที่สถานีพักขยะ แยกขยะ และการกำจัดอย่างเหมาะสมกับลักษณะของขยะแต่ละประเภทตามหลักสุขอนามัย มาถึงตรงนี้แล้ว คงเข้าใจกันมากขึ้นว่าการบริหารจัดการมหานครมีความซับซ้อนยุ่งยาก ทั้งต้องทำให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน แต่เวลาในการทำงานจำกัดมากเพราะประชาชนต้องใช้บริการได้ตามปกติตลอดเวลาเปิดให้บริการ ตามมาซึ่งการใช้บุคลากรและเครื่องมือต่าง ๆ และต้นทุนมหาศาล ประชาชนอย่างเรา ๆ จึงต้องร่วมมือกันลดภาระในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการเคารพกฎระเบียบต่าง ๆ ของมหานคร การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างประหยัดและถูกต้อง เพื่อให้มหานครของเราเป็นมหานครที่ดีต่อไป
 
 
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซด์ Rabbit Today เมื่อปี 2019

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด