เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดการประชุมสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายขององค์กรในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย การประชุมสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออก โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากหน่วยงานของประเทศมาเลเซียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Malaysia External Trade Development Corporation (MATRADE), Food Safety and Quality Division, Ministry of Health Malaysia และ National Pharmaceutical Regulatory Agency (NPRA) มานำเสนอข้อมูลแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์สุขภาพ กฎระเบียบในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมไปถึงข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศมาเลเซีย ซึ่งการประชุมสัมมนาดังกล่าว มีผู้ประกอบการไทยที่เข้าสนใจร่วมผ่านทางระบบออนไลน์กว่า 150 คน
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานเปิดการประชุมสัมมนา โดยได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาท อย. ในการส่งเสริมผู้ประกอบการตั้งแต่ช่วงกลางน้ำ ในการพัฒนาระบบให้คำปรึกษาเพื่อการออกสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม ซึ่งรับผิดชอบโดย กองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการรักษาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบโดยกองความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้มีหัวข้อการอบรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่
Market insight, trends, and opportunities of Malaysia market นำเสนอภาพรวมของตลาด แนวโน้ม ความต้องการ และโอกาสของผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศมาเลเซีย Food Control Regulations in Malaysia & Food Import Requirement to Malaysia ซึ่งนำเสนอการแนวทางการกำกับดูแล กฎระเบียบ และข้อกำหนดในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศมาเลเซีย Cosmetic Registration in Malaysia นำเสนอถึงแนวทางการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนำเข้า รวมไปถึงขั้นตอนในการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของประเทศมาเลเซีย และHerbal Product/Extraction Registration in Malaysia นำเสนอข้อกำหนดกฎระเบียบเกณฑ์การแบ่งประเภท และขั้นตอนกระบวนการสำหรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณในประเทศมาเลเซีย ในระหว่างการประชุมสัมมนาผู้ประกอบการมีการซักถามประเด็นข้อสงสัยกับวิทยากรจากหน่วยงานของประเทศมาเลเซีย ซึ่งทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการเพื่อเตรียมการสำหรับการส่งออก นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการประชุมจะถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาเป็นข้อสรุปแนวทางสำหรับการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อเผยแพร่ผ่านทางส่วนส่งเสริมการส่งออก บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้กับผู้ประกอบการต่อ