13 มิถุนายน 2566 ที่จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จัดกิจกรรมการรณรงค์และเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายสถานพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระ ประชาชน และเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยกิจกรรม ประกอบด้วยการเสวนา เรื่อง “ทำอย่างไรนครราชสีมาจะเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” โดยผู้แทนจาก ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา, ปศุสัตว์เขต , นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กรมการสัตว์ทหารบก และนายแพทย์วิชาญ บุญกิติกร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา การแสดงเจตจำนงในการดำเนินงานเพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้า นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวโรคพิษสุนัขบ้าในคนและในสัตว์ การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน สำหรับบุคลากรกลุ่มเสี่ยง จำนวน 100 คน ให้บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว จำนวน 100 ตัว และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยง จำนวน 100 ตัว และการปล่อยขบวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธี เพื่อให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และกำจัด โรคพิษสุนัขบ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จังหวัดนครราชสีมา ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้ต่อไป
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ด้วยพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย และทรงเลือกจังหวัดที่จะดำเนินการแบบต่อเนื่องในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่สามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้ และยังทรงเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์โดยการทำหมัน ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อให้ตนเองมีความรู้ความสามารถในการป้องกันตนเอง จากการติดโรคพิษสุนัขบ้า
โดยปัจจุบัน สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ถือว่าค่อนข้างคงที่ ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 3 ราย ในจังหวัดชลบุรี, ระยอง, และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมาก กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้จัดทำนโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 1 เขต 1 อำเภอใหม่ และเพื่อเป็นการสนองพระปณิธาน รวมถึงการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรคจึงจัดกิจกรรมการณรงค์และเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือร่วมใจ ที่จะทำให้จังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนสามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยให้ได้ภายในปี 2568 ตามข้อตกลงขององค์การอนามัยโลก องค์การสุขภาพสัตว์โลก และองค์การอาหารและยาเพื่อการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วย 32 อำเภอ 289 ตำบล 3,743 หมู่บ้าน เป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และยังเป็นประตูสู่ภาคอีสานอีกด้วย ในการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์การประเมินพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งอำเภอปากช่อง เป็นอำเภอที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์มานานกว่า 2 ปี และมีแผนที่ประเมินและรับรอง เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้ โดยจังหวัดนครราชสีมา มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการดำเนินงานเพื่อการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า และมีการถ่ายทอดนโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าไปยังผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า แนวทางการประกาศพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ คือ 1.ระดับปลอดโรคพิษสุนัขบ้า หมายถึงพื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้า เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี และได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าผ่านคณะกรรมการประเมินและรับรองฯ 2.ระดับ Afree หมายถึง พื้นที่ที่ไม่พบรายงาน โรคพิษสุนัขบ้า เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี 3.ระดับ A หมายถึง พื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้า เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 2 ปี 4.ระดับ B หมายถึง พื้นที่ัที่ยังพบรายงานสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา และสุดท้าย 5.ระดับ C หมายถึง พื้นที่ที่ยังพบรายงานการเสียชีวิต ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา โดยการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มต้นจากการประเมินและรับรองในระดับท้องถิ่น สะสมขึ้นมาเป็นระดับอำเภอ และระดับจังหวัดตามลำดับ โดยใช้แนวทางคู่มือการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำโดยคณะกรรมการและคณะทำงานจัดทำคู่มือฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น