สื่อทั่วโลกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันคือร่างโคลนนิ่งของทวิตเตอร์นั่นเอง โคลนมาเพื่อแข่งกับทวิตเตอร์ และจะ "ฆ่า" ทวิตเตอร์ ด้วยหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป
เธรด อธิบายตัวเองไว้ว่า เป็นที่ที่ชุมชนจะมาร่วมเสวนากันในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเรื่องสนใจใกล้ตัว หรือเทรนด์ใหม่ๆที่เกิดทั่วโลก ตามทุกประเด็นที่สนใจ เกาะติดไปกับครีเอเตอร์ที่ชอบ ไปพร้อมกับมิตรร่วมนิยม หรือจะสถาปนาเวทีผลงาน ความคิด ความเห็นของตนขึ้นใหม่ แล้วปันกันกับเพื่อนร่วมโลก ก็ทำได้
แอพเธรดจะใช้งานได้ผ่านล็อกอินอินตาแกรมเดิม สะดวกไปอีก ผู้ใช้สามารถติดตามบัญชีไอจีใครต่อใครได้เหมือนเดิม ซึ่งนั่นน่าจะทำให้สาวกไอจียอมรับแอปได้ง่ายๆ ใช้งานได้เนียนๆ ต่อเนื่องไป ไม่รู้สึกแปลกปลอม เพราะระบบออกแบบมาด้วยโครงสร้าง นโยบายและเงื่อนไขต่างๆ เดียวกันกับไอจีเลย
ก็นับว่าเป็นไอเดียน่าสนใจจากทีม Meta ที่ฝังแอบคุยไว้ในไอจีแบบนี้ ก็หวังว่าเธรดจะมาสร้างสีสันความสนุกในการใช้แอปให้กับแฟนๆ ไอจีได้มันไปอีกระดับแน่ๆ ขณะที่จะได้สมาชิกใหม่ๆ กลับมาสู่อ้อมอกไอจีด้วยเช่นกัน หลังจากไหลออกไปหาติ๊กต๊อกสักพักใหญ่ จะได้วัดพลังกันละว่า ไอจียังมีเสน่พอมั๊ย จะเบียดส่วนแบ่งจากทวิตเตอร์มาได้มากแค่ไหน จะพรากผู้ใช้จากติ๊กตอกได้กี่มากน้อย ต้องจับตาดูกันใกล้ชิดเลยทีเดียว
นักวิเคราะห์ ชี้ว่า เธรดออกมาเพื่อรองรับแฟนทวิตเตอร์มากมายที่โดดหนีจากแอปของอีลอน มัสก์ ซึ่งจะโทษใครไม่ได้เพราะหลังจากอีลอนเข้าซื้อทวิตเตอร์มาครอบครองแล้ว ก็ปรับโน่นนี่มากมาย ซึ่งล้วนแต่ทำลายจิตใจแฟนผู้ใช้ดั้งเดิมแบบไม่แคร์เยื่อใยใดๆ และไม่ง้อ
ขณะเดียวกันก็มองด้านด้อยของแอปเธรดว่า อาจจะทำให้ผู้ใช้บางคนบางกลุ่ม หนีหายได้เหมือนกัน หากไม่นิยมการใช้งานข้อความสั้นแบบนี้อยู่ก่อนแล้ว
เธรดยังไม่เปิดให้บริการในสหภาพยุโรป และยังไม่มีกำหนดแน่ชัดว่าจะเริ่มให้บริการได้เมื่อใด สื่อบางสำนักชี้ให้เห็นเบาะแสว่า เป็นที่ทราบกันดีถึงข้อพิพาทต่อเนื่องมากมายระหว่างอียูกับเฟซบุ๊ค โดยเฉพาะประเด็นข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในสหภาพทำให้ถูกปรับจนอาน (ระดับพันล้านเหรียญ!) และอีกหลายประเด็นอ่อนไหวในข้อกฏหมาย ที่เฟซบุ๊คเองก็แบะท่าว่าคงจะไม่สามารถยอมปรับตามได้ เพราะกระเทือนกับการใช้งานและผลประโยชน์ของตน รวมถึงยังไงเสีย กฏหมายของอียู ก็ดูเหมือนจะไล่บี้ไม่หยุดหย่อนต่อไป ฉะนั้น "เธรด" ซึ่งคลอดจากแม่คนเดียวกัน ด้วยแบบแผนระบบเทคโนโลยีทิศทางเดียวกัน ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลของยูสเซอร์ในการรันกิจกรรมบนแอป คงจะยังไม่ถึงมือชาวยุโรปในเร็วๆนี้แน่ [Techcrunch]
แต่ความได้เปรียบของเธรดมีมากกว่า ด้วยฐานผู้ใช้ไอจีระดับ 2 พันล้านบัญชี และ 3 พันล้านเฟซบุ๊ค นั่นน่าจะเป็นแต้มต่อที่กว่าอื่นๆ ลักษณะเดียวกัน อาทิ Post, Mastodon และ Bluesky
อีกประเด็นที่ Meta น่าจะหวังได้สูง คือตลาดโฆษณาระดับมหึมาแห่งใหม่ จากฐานผู้ใช้ระดับ 2 พันล้านอย่างที่กล่าวไว้ จำนวนผู้ใช้ขนาดนี้ เวลาที่ใช้ของแต่ละคน การเชื่อมโยงระหว่างแอปไม่ให้ผู้ใช้หลุดออกหรือละสายตาออกไป นั่นคือผลประโยชน์มหาศาลที่รออยู่ ขุมทรัพย์ที่สามารถเริ่มตักตวงได้ทันที ขุมทรัพย์ที่ส่วนหนึ่งกระเด็นออกมาจากทวิตเตอร์ และขุมทรัพย์ที่จะดูดเอามาจากที่อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ขุมทรัพย์นี้น่าจะมาทดแทนมูลค่าที่ลดวูบของ Meta ในช่วงหลายไตรมาศที่ผ่านมานี้ได้เป็นอย่างดี
สมรภูมิ Text app กำลังเริ่มร้อนระอุ แฟนทวิตเตอร์ที่เริ่มชังแอปโปรดของตนแต่ไม่รู้จะไปไหน ตอนนี้คงมีที่ไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาไม่มีทางเลือกอื่นใดเลยนั่นเอง และที่สำคัญ ชุมชนที่ตนแฮงค์เอ้าท์อยู่ ฝากชีวิตไว้ ยังคงอยู่บนทวิตเตอร์ เลยจำใจต้องยอมทน แต่เมื่อฟ้าเปิดเวทีใหม่เปิดตัวแล้ว ชุมชนคงพร้อมจะเคลื่อนตัว แฟนๆจะไปตาม เมื่อนั้น ชะตาของทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูอีลอน มัสก์อย่างใกล้ชิดเสียแล้ว
ฟังก์ชั่น Threads
เธรด สามารถโพสต์ข้อความได้ 500 ตัวอักษร สามารถอัปโหลดภาพได้ สามารถอัปโหลดวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที มีลักษณะคล้ายกับ Twitter ทั้งหมด โดยเน้นอินเทอร์เฟซที่เรียบง่าย มาพร้อมตัวเลือกในการกดถูกใจ แสดงความคิดเห็น โพสต์ใหม่ และแชร์ที่ใช้งานง่ายเฉกเช่นเดิม นอกจากนี้ Threads ยังมีความพิเศษจากการใช้บัญชี Instagram ในการล็อกอิน ทำให้มีรายชื่อผู้ติดตามคนเดียวกันบนแพลตฟอร์ม แต่ผู้ใช้งานต้องกดติดตามใหม่บนแพลตฟอร์ม Threads โดยไม่ต้องขอแอ็กเคานต์ใหม่จากเพื่อน [ไทยรัฐ]