นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อม นพ.บัลลังก์ อุปพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ นำทีมเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมคุณภาพวัคซีนทางห้องปฏิบัติการ เยี่ยมชมการผลิตและการควบคุมคุณภาพวัคซีน ณ สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India; SII) เมือง ปูเณ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 8 -12 กรกฎาคม 2566
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า คณะผู้เดินทางได้รับฟังคำบรรยายประวัติความเป็นมาของโรงงาน การควบคุมคุณภาพวัคซีน จากนั้นได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิต และการควบคุมคุณภาพวัคซีนทางห้องปฏิบัติการ พร้อมกับการเยี่ยมชมอาคารสัตว์ทดลองเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ จึงเป็นโอกาสให้บุคลากรได้มีการหารือประเด็นการผลิตวัคซีนและการควบคุมคุณภาพวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบแบบ 10 สายพันธุ์ (pneumococcal polysaccharide conjugate vaccine) วัคซีนพิษสุนัขบ้า (rabies vaccine) วัคซีนโรตาชนิดรับประทาน (Rota vaccine) และ วัคซีนโควิด 19 (COVID 19 vaccine) นอกจากนี้ทางสถาบันได้บรรยายผลการศึกษาวิจัยพัฒนาโมโนโคนอลแอนติบอดีต่อการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา โดยยารักษาดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง การศึกษาในมนุษย์ระยะ 1, 2 และ 3 และสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียได้มีการหารือถึงความต้องการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะ 3 ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ซึ่งถ้ามีการศึกษาวิจัยในประเทศไทยน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศ เนื่องจากโรคไข้เลือดออกช็อค (dengue shock syndrome; DSS) ซึ่งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย เป็นโรงงานผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตวัคซีนกว่า 1.5 พันล้านโดสต่อปี วัคซีนของสถาบันได้ถูกนำไปใช้ในโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์การอนามัยแพนอเมริกัน (PAHO) โดยมีวัคซีนที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ได้แก่ วัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนโรตา วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี และวัคซีนโควิด-19 COVOVAX การเยี่ยมชมสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เชิงวิชาการ ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ ในงานที่รับผิดชอบ และเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการพัฒนางานด้านการควบคุมคุณภาพวัคซีนประเทศ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายระหว่างห้องปฏิบัติการ เพื่อการพัฒนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววัตถุให้เป็นองค์การชั้นนำในเอเชียด้านการควบคุมคุณภาพวัคซีนในอนาคต