สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผลต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ
ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งตามมา ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และยังส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย อีกมากมายทำให้เกิดภาวะผิดปกติตามมา เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำลง เกลือแร่ในร่างกายขาดความสมดุล โดยพิษของสุรา แบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย พิษของสุราแบบเรื้อรัง ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวรวมถึงสูญเสียหน้าที่การทำงาน
การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการบาดเจ็บและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การดื่มแล้วขับยังมีความผิดต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2566 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง ซึ่งการลดปริมาณการดื่มสุราลงจะทำให้ผู้ดื่มมีสุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ก็ลดลง รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ดื่มสามารถเลิกดื่มสุราได้ในอนาคต
สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165
ทั้งนี้ผู้ดื่มไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ ควรหยุดดื่มภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือ เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราได้ที่
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และ
โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
ซึ่งการบำบัดรักษาอาการติดสุรา มี 2 รูปแบบ คือ แบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยใน
การบำบัดแบบผู้ป่วยนอกเหมาะสำหรับผู้ติดสุราไม่รุนแรงมาก สามารถรับประทานยาเองและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกายหรือทางจิตที่รุนแรง หลังจากบำบัดอาการถอนพิษสุราแล้ว จะได้รับการนัดเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด เพื่อส่งเสริมการหยุดดื่มอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ติดสุราที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ แพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ และเลิกดื่มได้อย่างต่อเนื่อง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.pmnidat.go.th
อย. แนะ 4 ทริค จัดชุดสังฆทานยาถวายพระ
เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา มักมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่นิยมถวายชุดสังฆทานยา อย. จึงขอแนะชาวพุทธ 4 ทริค “3 เลือก 1 ห้าม” เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ หากพบยาหมดอายุในชุดสังฆทาน แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมทั้งงานบุญต่าง ๆ พบว่าประชาชนมักจะมีการถวายสังฆทาน และมีบางส่วนจะนิยมถวายสังฆทานยา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำชาวพุทธ ในการเลือกซื้อชุดสังฆทานยาหรือจัดเอง โดยคำนึงถึง “3 เลือก 1 ห้าม” เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ ดังนี้
3 เลือก
1. เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่ปลอดภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉลากระบุคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” และมีเลขทะเบียนที่ถูกต้องกำกับบนฉลากของยานั้น ๆ รวมทั้งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท เนื่องจากยาสามัญประจำบ้านที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ โดยให้ใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากยา
2. เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่มีลักษณะอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น กรณียาเม็ด ไม่แตกหัก ไม่ชื้นหรือมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม กรณียาแคปซูล ไม่บวมหรือมีรูปร่างบิดเบี้ยว กรณียาน้ำ ต้องไม่มีตะกอน หรือกรณีที่เป็นยาน้ำแขวนตะกอนเมื่อเขย่าแล้วตัวยาต้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ
3. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงฉลากและเอกสารกำกับยาที่มีข้อความรายละเอียดครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ส่วนประกอบวิธีการเก็บรักษา วิธีการใช้ยาตามขนาด คำเตือน ฉลากชัดเจนสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด เลือนหาย สีไม่ซีดจาง
1 ห้าม
4. ห้ามนำผลิตภัณฑ์ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุมาจัดชุดสังฆทาน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อพระภิกษุสงฆ์ และต้องระมัดระวัง หากมียากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ตาม พ.ร.บ.ยา ถือว่าผิดกฎหมาย
รองเลขาธิการ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีระบบการสืบค้นเลขทะเบียนยาทาง www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่า ยาที่ซื้อได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และหากผู้บริโภคพบเห็นร้านใดจำหน่ายชุดสังฆทานยาที่บรรจุยาที่ไม่มีทะเบียน ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ หรือพบร้านขายยาที่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย หรือจำหน่ายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาทำการ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ