ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ครม.อนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.ฎ.พื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย

ครม.อนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.ฎ.พื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย HealthServ.net
ครม.อนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.ฎ.พื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย ThumbMobile HealthServ.net

ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

8 สิงหาคม 2566  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ "ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. ...."  ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย


                     ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูกและสารสำคัญจากพืชดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกำหนดพื้นที่เพื่อดำเนินการศึกษาทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นยาเสพติด ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติดได้ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดพื้นที่วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นและเพาะเห็ดขี้ควาย เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย พื้นที่องค์การเภสัชกรรม 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี เป็นพื้นที่ทดลองสกัดมอร์ฟีนจากพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และเพิ่มเติมพื้นที่ทดลองเพาะเห็ดขี้ควายเพื่อการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยการนำพืชฝิ่น หรือเห็ดขี้ควาย ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เป็นยาเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยาต้านการซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่จำเป็นอื่น ภายใต้มาตรการควบคุม และลดการนำเข้ายาประเภทมอร์ฟีนจากต่างประเทศในอนาคต


 
 

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

 
      กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูก และสารสำคัญจากพืชดังกล่าว
 
เรื่อง สาระสำคัญ
 
 
1. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสารสำคัญที่ได้จากฝิ่น

การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น
 
 - กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

กำหนดให้พื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม ดังต่อไปนี้ เป็นพื้นที่ทดลองสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

(1) อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เลขที่ 75/1 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

(2) อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม (สาขาธัญบุรี) เลขที่ 138 หมู่ที่ 4 ถนนรังสิต - นครนายก ตำบลบึงสนั่น อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี



2. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย


การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย
 
- กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย
 
กำหนดให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้ เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย
 
(1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(ก) อาคารทวี ญาณสุคนธ์(SCL) คณะวิทยาศาสตร์
(ข) อาคารปฏิบัติการวิจัยกลางและอาคารอุตสาหกรรมเกษตร 3 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
(ค) อาคารภาควิชาจุลชีววิทยา - ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
(ง) อาคารภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
 
(2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
(ก) หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์
(ข) อาคาร AG07 ชั้น 4 สาขาวิชาโรคพืชและกีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์
(ค) อาคารศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์
(ง) อาคารสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมการผลิต คณะเภสัชวิทยา
(จ) อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
(3) มหาวิทยาลัยนเรศวร
(ก) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์
(ข) ห้อง MD 346 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
(ค) อาคาร 4 คณะเภสัชศาสตร์
(ง) อาคารสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร
 
(4) มหาวิทยาลัยพายัพ
 ในพื้นที่อาคารวิวรณ์ สำนักบริการวิชาการและวิจัย
 
(5) มหาวิทยาลัยแม่โจ้
(ก) อาคาร 60 ปี แม่โจ้(ศูนย์บริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) คณะวิทยาศาสตร์
(ข) อาคาร Pilot plat คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
(ค) อาคารจุฬาภรณ์(ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางพืช) คณะวิทยาศาสตร์
(ง) อาคารโรงเรือน คณะฟาร์มมหาวิทยาลัย
(จ) อาคารวิศวกรรม ห้อง 400 คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
(ฉ) อาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการคณะวิทยาศาสตร์
(ช) อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ คณะฟาร์มมหาวิทยาลัย
(ซ) อาคารสาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร
 
(6) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(ก) อาคารพรีคลินิก ห้องเตรียมชิ้นเนื้อ / ห้องวิจัย 2(PR116) คณะวิทยาศาสตร์
(ข) อาคารพรีคลินิก ห้องปฏิบัติการทางเภสัชวิทยา 1(PR126) คณะวิทยาศาสตร์
(ค) อาคารพรีคลินิก ห้องปฏิบัติการทางเภสัชวิทยา 4(PR230) คณะวิทยาศาสตร์
(ง) อาคารโรงเพาะปลูก คณะวิทยาศาสตร์
(จ) อาคารสถานสัตว์ทดลองภาคใต้ คณะวิทยาศาสตร์
 
(7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ในพื้นที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 

3. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกฝิ่น

กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกฝิ่นเพื่อส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมสกัดสารสำคัญ เพื่อประโยชน์ทางการวิจัยในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยต้องมีมาตรการควบคุม ดังต่อไปนี้
 
(1) ที่มาของพืชฝิ่นที่จะเพาะปลูก ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือรับอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยการตรวจรับการตรวจพิสูจน์ การเก็บรักษา การทำลาย การนำไปใช้ประโยชน์ และการรายงานยาเสพติด พ.ศ. 2565
 
(2) สถานที่เพาะปลูก
(ก) จัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย
(ข) จัดทำแนวเขตพื้นที่เพาะปลูกที่มีความมั่นคงแข็งแรงและเห็นได้ซัด
(ค) แสดงแเบบแปลนของตัวอาคาร ชั้นโรงเรียน หรือแปลงเพาะปลูกกลางแจ้ง
(ง) การเข้าออกพื้นที่ต้องสามารถป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องได้
 
(3) การรักษาความปลอดภัย
 - ต้องมีการติดกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน
 - การควบคุมการเข้าถึงของบุคคลภายนอก กำหนดสิทธิบุคคลผู้มีสิทธิเข้าออก กรณีฝิ่นถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย ต้องแจ้งให้สถานีตำรวจในพื้นที่ทราบโดยเร็ว
 
(4) สถานที่เก็บฝิ่น
 - ต้องแยกเป็นสัดส่วน และจัดเก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรง และมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องหมายป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน
 
(5) การขนส่ง
(ก) แจ้งกำหนดการขนส่งพืชฝิ่น ไปยังพื้นที่สกัด โดยทำเป็นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทางไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนการขนส่ง
(ข) จัดให้มียานพาหนะที่มีระบบป้องกันการสูญหาย การเข้าถึง และการมองเห็นจากบุคคลภายนอก
(ค) จัดให้มีภาชนะบรรจุพืชฝิ่นที่มีการปิดผนึกหรือระบบนิรภัยป้องกันมิให้มีการเข้าถึงพืชฝิ่นในระหว่างการขนส่งได้โดยง่ายจนกระทั่งขนส่งไปถึงผู้รับ
(ง) จัดให้มีผู้รับผิดชอบควบคุมการขนส่งและรักษาความปลอดภัยอย่างน้อยสองคน



4. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย

กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะพืชเห็ดขี้ควายเพื่อส่งต่อให้สถาบันการศึกษาสกัดสารสำคัญ เพื่อประโชน์ทางการวิจัยในเขตพื้นที่ที่กำหนด

- กำหนดให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม


5. การกำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากฝิ่น

กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมหรือผู้ได้รับมอบหมาย
เป็นผู้รับผิดชอบ และควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

  - กำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นในเรื่องต่างๆ เช่น สถานที่สกัดต้องจัดทำป้ายระบุว่าเป็นสถานที่สกัดพืชฝุ่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ แสดงแบบแปลนอาคาร จัดให้มีประตูเข้าออกที่มีความมั่นคงแข็งแรง การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นต้น


6. มาตรการควบคุมการเพาะปลูกและสารสกัดสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายของสถาบันการศึกษา

- กำหนดให้อธิการบดีหรือผู้ได้รับมอบหมาย เป็นผู้รับผิดชอบ
และควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจาก
พืชเห็ดขี้ควาย ของสถาบันการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

- กำหนดให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น และมาตรการควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญ มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม

- กำหนดให้สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ พึงระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงมิให้นิสิตหรือนักศึกษาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยดังกล่าว เว้นแต่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยสถาบันการศึกษาจะต้องแจ้งและขอความยินยอมจากผู้ปกครองของนิสิตหรือนักศึกษาด้วย

- ให้สถาบันการศึกษารายงานความคืบหน้าผลการศึกษาวิจัยการทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบทุก 6 เดือน
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด