เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครได้สิทธิได้บ้าง
- คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป
- ใช้บัตรประชาชน ระบุเลข 13 หลัก
- ผู้ได้ที่ได้รับสวัสดิการ เช่น ผู้พิการ คนชรา ได้รับเต็มจำนวน ไม่หักลด
- ไม่ต้องลงทะเบียน เพราะระบบผูกกับบัตรประชาชน
เงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
- ปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะภูมิประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
- สามารถใช้ซื้ออาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค หรือเครื่องมือทำกิน
- เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และท้องถิ่นทั่วประเทศ
- ข้อห้าม ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับอบายมุข ใช้หนี้ สินค้าออนไลน์ ยาเสพติดและการพนัน
ระยะเวลาการใช้ เงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน
- สามารถใช้จ่ายรวดเดียว 10,000 บาท หรือทยอยใช้ก็ได้
- ไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้
- ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น หรือผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชน+โค้ดส่วนตัว
เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเริ่มเมื่อไหร่?
- คาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการเงินดิจิทัลได้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567
- นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง มีความปลอดภัยสูง
- ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ ง่ายต่อการใช้จ่าย
- สามารถแลกเป็นเงินสดได้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่จดทะเบียนการค้า
รู้จัก DigitalWallet
ทำความรู้จักกับ Digital Wallet กันสักหน่อย
Digital Wallet คืออะไร?
⠀⠀⠀หากแปลตรงตัวง่าย ๆ ก็คือ กระเป๋าเงินดิจิทัล หมายถึง ตัวกลางที่ทำหน้าที่เสมือนกระเป๋าเงิน ใช้ในการแลกเปลี่ยน การชำระเงินต่าง ๆ ทั้งแบบใช้จ่ายโดยตรงในชีวิตประจำวัน หรือการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ โดยมีการนำเอาระบบเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) มาปรับใช้ร่วมด้วย เพื่อให้ใช้งานได้ครอบคลุมไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ (Cryptocurrency) รวมถึงสามารถรองรับการใช้งานตามเงื่อนไขของสกุลเงินนั้น ๆ ได้อีกด้วย
⠀⠀⠀ซึ่ง Digital Wallet นี้ มีทั้งในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนมือถือ โปรแกรมบนเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบของกระดาษบันทึก โดยจะมีการตั้งรหัสการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมที่เรียกว่า Private Key ซึ่งเป็นกุญแจส่วนตัวที่ใช้ในการเข้าถึงข้อมูล ทำหน้าที่เป็นรหัสผ่านในการเข้ากระเป๋าเงิน จุดประสงค์เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้ และ Public Key คือ ที่อยู่ (Wallet Address) ที่ใช้ในการแจ้งผู้อื่นเพื่อการทำธุรกรรมต่าง ๆ เปรียบเสมือนเลขที่บัญชีของกระเป๋าเงินนั่นเอง
Digital Wallet ต่างกับ E-wallet หรือ Mobile Wallet อย่างไร?
⠀⠀⠀มีหลายครั้งที่สามคำนี้ถูกนำไปใช้ในความหมายเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร โดย E-wallet (Electronics wallet) เป็นคำที่ใช้เรียกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นระบบในการชำระเงินและการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Digital Wallet หรือ Mobile Wallet ก็อยู่ในกลุ่มของ E-wallet ทั้งสิ้น
ขณะที่ Mobile Wallet จะหมายถึงกระเป๋าเงินออนไลน์ที่อยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชัน True Money Wallet, Rabbit Line Pay, mPay หรือ Samsung Pay ซึ่ง Digital Wallet เองก็มีทั้งประเภทที่อยู่ในรูปแบบของ Mobile Wallet ด้วยเช่นกัน
Digital Wallet มีกี่ประเภท?
⠀⠀⠀หากแบ่งตามการใช้งานจะมีด้วยกันอยู่ 5 ประเภท แต่เพื่อให้เข้าใจง่าย จึงขอแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กระเป๋าร้อนพร้อมใช้ (Hot Wallets) คือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งาน ให้ความสะดวก รวดเร็ว เพราะออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่งมีด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ Mobile Wallet (แอปพลิเคชันบนมือถือ), Desktop Wallet (โปรแกรมบนคอมพิวเตอร์) และ Web-based Wallet (ใช้งานผ่านเว็บไซต์)
กระเป๋าเย็นวางใจ (Cold Wallets) คือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในการใช้งาน สามารถจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ Hardware Wallets (อุปกรณ์สำหรับเก็บเงินดิจิทัลโดยเฉพาะ มักมาในรูปแบบ USB) และ Paper Wallet (การคัดลอก Private Key ไว้บนกระดาษแล้วเก็บไว้กับตัว)
การแจกเงินผ่าน Digital Wallet ที่เขาพูดถึงกัน คืออะไร?
⠀⠀⠀จากนโยบายดังกล่าว เป็นการให้เงินผ่าน Digital Wallet ของคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ให้ใช้ภายใน 6 เดือน โดยต้องจับจ่ายใช้สอยในชุมชน รัศมี 4 กิโลเมตรนับจากที่อยู่ในบัตรประชาชน (หากไม่มีร้านค้าระแวกนั้นสามารถขยายรัศมีได้) โดยเงินจำนวนนี้จะถูกจำกัดการใช้งานโดยการเข้ารหัสผ่านบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงิน เพื่อไม่ให้นำเงินไปใช้ในทางอื่นที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้อสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ และหากทำได้จริง จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาใช้ระบบเงินยุคใหม่ ซึ่งอาจเปลี่ยนวิถีการใช้เงินของประเทศเราไปตลอดกาลเลยทีเดียว