ยาแก้ลมแก้เส้น
ที่มาของตำรับยายาแก้ลมแก้เส้น
เวชศาสตร์วัณ์ณณา เล่ม 5
“ขนานหนึ่งเอา เทียนขาว 1 เทียนดำ 2 เทียนข้าวเปลือก 3 ขิง 4 เจตมูล 5 ใบกัญชา 20 พริกไทย 40 ส่วน ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้ง น้ำส้มซ่ากินแก้ลมแก้เส้นแก้เมื่อยแก้เหน็บชาแก้ตีนตายมือตายหายดีนัก”
สูตรตำรับยา
ประกอบด้วย ตัวยา 7 ชนิด รวมน้ำหนัก 75 ส่วน ดังนี้
ลำดับ ตัวยา น้ำหนักยา
1 เทียนขาว 1 ส่วน
2 เทียนดำ 2 ส่วน
3 เทียนข้าวเปลือก 3 ส่วน
4 ขิง 4 ส่วน
5 เจตมูลเพลิงแดง 5 ส่วน
6 ใบกัญชา 20 ส่วน
7 พริกไทย 40 ส่วน
ข้อบ่งใช้
แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการมือเท้าชา อ่อนแรง
รูปแบบยา
ยาผง ยาแคปซูล
ขนาดและวิธีใช้
รับประทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ก่อนอาหาร
น้ำกระสายยาที่ใช้
น้ำผึ้งรวง น้ำส้มซ่า
ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
ข้อควรระวัง
ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
ควรระวังการใช้ร่วมกับยา phenytoin, propranolol, theophylline และ rifampicin เนื่องจากตำรับนี้มีพริกไทยในปริมาณสูง
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคแผลเปื่อยเพปติก และโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อน
ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ลมในเส้น เป็นลมที่พัดประจำอยู่ตามเส้นต่างๆ ในร่างกาย เช่น ลมจันทกระลา พัดอยู่ในเส้นอิทา ลมสูญทกลา พัดอยู่ในเส้นปิงคลา เมื่อลมเหล่านี้ผิดปกติจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือชาตามแนวเส้นที่ลมนั้นพัดประจำหรือบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
สุ่ม วรกิจ พิศาล. เวชศาตร์วัณ์ณณา ตำราแพทย์แบบเก่า เล่ม 5 เรียบเรียงตามตำราของท่านพระยาประเสริฐสารทดำรง (หนู) บิดา. กรุงเทพฯ: พิศาลบรรณนิติ์; 2460 หน้า 974.