จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ A H1N1, H3N2 และสายพันธุ์ B ที่ระบาดรุนแรงในหลายจังหวัด ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2566 ถึง 248,322 ราย อัตราป่วย 375.50 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 8 ราย (อัตราป่วยตาย 3.2 รายต่อผู้ป่วยแสนราย) เฉพาะในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 109,556 ราย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดรุนแรง โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงที่สุด ได้แก่ ระยอง ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ยโสธร พัทลุง อุบลราชธานี ลำพูน นครปฐม และจันทบุรี โดยให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เร่งจัดหาและดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และเพิ่มเติมคือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากกลุ่มนี้หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงมากกว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองจำนวนมากให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งพบว่าสิทธิในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับเด็กในปัจจุบัน คือ อายุ 6 เดือน - 2 ปี ซึ่งคิดว่าไม่เพียงพอ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเรื่องการขยายอายุการฉีดวัคซีนในเด็กไปถึง 5 ปี เพื่อจะได้สกัดกั้นการระบาดได้มากขึ้น รวมทั้งอาจขยายระยะเวลาการรณรงค์ฉีดวัคซีนจากเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี ให้ยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากในปีนี้ สถานการณ์การระบาดค่อนข้างรุนแรง และฤดูฝนยาวนานขึ้น ส่วนที่มีข่าวว่า ขาดแคลนยารักษาไข้หวัดใหญ่นั้น ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เร่งบรรจุยาฟาวิพิราเวียร์ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้เป็นทางเลือกในการใช้เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ภายหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลงแล้ว