นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับทราบแนวทางการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งหมด 13 เรื่องหลัก ประกอบด้วย
1.โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ จะเน้นที่โครงการราชทัณฑ์ปันสุข โดยตั้งเป้าให้ผู้ต้องขังทุกรายได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพและการป้องกันโรค เช่น เอดส์ วัณโรค มะเร็ง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และการตรวจสุขภาพจิต ตามมาตรฐานสาธารณสุข รวมทั้งจัดบริการทันตกรรมและบริการอื่นๆที่จำเป็น โดย สปสช.จะจัดงบประมาณรองรับบริการต่างๆ ที่จำเป็นแก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งสนับสนุนโรงพยาบาลแม่ข่ายในการจัดระบบการให้บริการในเรือนจำ
2.โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล เน้นการจัดหาหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพิ่มเติมในเขตที่ขาดแคลน ให้มีเพียงพอใน 31 เขตของ กทม. รวมทั้งการจัดงบประมาณรองรับเป้าหมายการเข้าถึงบริการที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ตลอดจนสนับสนุนการจัดเครือข่ายระบบส่งต่อ โดยดำเนินการประสานการส่งต่อผ่านสายด่วน สปสช. 1330
3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด จะมีการจัดงบประมาณรองรับบริการผู้ป่วยสุขภาพจิตและผู้ป่วยยาเสพติด 421,920 ราย ตั้งแต่การคัดกรองพฤติกรรมและความเสี่ยง การจัดบริการ Home ward เพื่อดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และขยายผลเก้าเลี้ยวโมเดล พร้อมทั้งจัดบริการจิตเวชชุมชนเพื่อเป็นที่ปรึกษาและดูแลให้ได้รับยาต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์สายด่วนวัยรุ่นและสายด่วนมิตรภาพบำบัด รวมทั้งการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลชุมชน
4.มะเร็งครบวงจร จะมีการต่อยอดนโยบายมะเร็งไปได้ทุกที่ จะจัดงบประมาณรองรับการขยายสิทธิประโยชน์คัดกรองความเสี่ยงมะเร็งที่สำคัญๆ ทั้งการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงอายุ 11-20 ปี กว่า 2.4 ล้านโดส การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับด้วยการตรวจปัสสาวะในกลุ่มเสี่ยง อายุตั้งแต่ 15-39 ปี การตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รวมทั้งการตรวจยืนยันด้วย CT/MRI กรณีสงสัยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี
5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร แม้ไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของ สปสช. แต่ สปสช. จะมีการพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่าย การรับข้อมูลโดยเชื่อม API กับคลาวด์กลางของผู้ให้บริการ เพื่อลดภาระการบันทึกข้อมูล การสนับสนุนการประสานหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วยโดยสายด่วน สปสช. 1330 การจัดกลไกหารือร่วมกับผู้ให้บริการก่อนขยายสิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการจัดคิวและนัดหมายเข้ารับบริการ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล
6. การแพทย์ปฐมภูมิ จะมีการจัดงบประมาณสนับสนุนนวัตกรรมบริการรูปแบบใหม่ๆ สำหรับบริการปฐมภูมิ ต่อยอดนโยบายปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ สนับสนุนบริการนัดคิวออนไลน์และบริการ Telehealth บริการตรวจเลือดใกล้บ้าน บริการรับยาใกล้บ้าน และสนับสนุนการจัดตั้ง Health station นอกหน่วยบริการ เช่น ในห้างสรรพสินค้า วัด โรงเรียน โรงงาน เป็นต้น
7. สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ จะสนับสนุนการจัดบริการเชิงรุกเพื่อเพิ่มการเข้าถึงในกลุ่มเปราะบางสนับสนุนงบแก่โรงพยาบาลในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกรรมการเบิกจ่ายสำหรับกองทุนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ/กองทุนหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
8. สถานชีวาภิบาล สนับสนุนการตั้งสถานชีวาภิบาลโดยท้องถิ่นทุกตำบล รวมทั้งบูรณาการการดูแลผู้ป่วย Long term care และ Palliative care ของท้องถิ่น รัฐ และเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
9.ด้านการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย สนับสนุนการจัดบริการ CR/MRI ที่โรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย สนับสนุนการจัดบริการ Stroke & STIMI Mobile Unit และ Sky doctor เพื่อให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองได้รับยาทันเวลาตามมาตรฐาน
10.ดิจิทัลสุขภาพ สปสช. จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ ในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน API เพื่อสนองนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีได้ทุกที่ ประชาชนเลือกหมอและโรงพยาบาลเองได้ รวมทั้งประชาชนใช้ประโยชน์ข้อมูลสุขภาพของตนเอง
11. ส่งเสริมการมีบุตรยาก จะจัดงบประมาณรองรับบริการที่จำเป็นด้านแม่และเด็ก เพื่อให้เด็กแรกเกิดทุกรายได้รับการตรวจคัดกรองโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก และตรวจคัดกรองการได้ยิน เพื่อให้เด็กที่มีความความผิดปกติได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วทันเวลา การร่วมมือกับท้องถิ่นใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) สนับสนุนโครงการป้องกันเด็กจมน้ำ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการมีบุตรและรักษาภาวะมีบุตรยาก
12. เศรษฐกิจสุขภาพ สปสช. สนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อลดการนำเข้า และขับเคลื่อนมาตรการ Demand induced supplier เพื่อจูงใจการลงทุนอุตสาหกรรมทางการแพทย์จากต่างประเทศ
และ 13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย โดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายความครอบคลุมการประกันสุขภาพภาคบังคับสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
“ทั้ง 13 นโยบาย เพื่อยกระดับบัตรทองของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นพ.ชลน่าน สปสช. ได้มีการจัดทำแผนเพื่อสนับสนุน ทั้งในส่วนของงบประมาณ การดำเนินการ รวมถึงการจัดทำระบบต่างๆรองรับ เพื่อให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน โดยบอร์ด สปสช. ได้รับทราบ และ สปสช. จะเร่งดำเนินการโดยเร็ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว