ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ชลน่าน เตรียมออกกฎกระทรวง มียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ - นานาทัศนะรัฐมนตรี

ชลน่าน เตรียมออกกฎกระทรวง มียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ - นานาทัศนะรัฐมนตรี HealthServ.net
ชลน่าน เตรียมออกกฎกระทรวง มียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ - นานาทัศนะรัฐมนตรี ThumbMobile HealthServ.net

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เผยเตรียมออกกฎกระทรวง ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด ให้ถือเป็นผู้เสพ ต้องเข้ารับการบำบัด ยืนยันดำเนินการร่วมกับ ป.ป.ส.พิจารณา มั่นใจ ทำได้ภายในปลายเดือนนี้หรือเดือน ธ.ค.

30 ต.ค.2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการจัดการปัญหายาเสพตติด  ในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร  ว่า 

เรื่องยาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ โดยเป็นเรื่องที่ต้องสู้ร่วมกัน เพื่อคืนลูกหลานเยาวชน และสร้างโอกาส ขับเคลื่อนมนุษย์วัยแรงงาน 
 
นิยามตามกฎหมายผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งคาดการณ์ว่า มีประมาณ 1.5 ล้านรายที่เป็นผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ที่ติดแล้ว โดยผู้ใช้คือผู้เสพที่ไม่มีอาการ ใช้บางครั้งบางคราว ผู้เสพคือมีอาการต้องใช้ยามากขึ้น และผู้ติดแล้วมีอาการติดยาอย่างชัดเจน ทั้ง 3 กลุ่มคือผู้เสพที่เราต้องดูแล ส่วนจะเข้าการบำบัดรักษาอย่างไรก็แบ่งกลุ่ม ผู้ใช้จะเป็นชุมชนบำบัด ผู้เสพและผู้ติดจะเป็นหน้าที่ของมินิธัญญารักษ์และหอผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ตาม จะมีการประกาศคิกออฟให้สังคมรับรู้ว่า จะเอายาบ้ากี่เม็ดถึงเป็นผู้เสพและตีเป็นผู้ป่วย นั่นคือมุมของกฎหมาย แต่มุมสาธารณสุขอย่าไปสนใจว่ากี่เม็ด จะ 1 เม็ด 10 เม็ดก็คือผู้เสพและผู้ป่วย เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดูแล ตอนนี้ให้ทีมพิจารณาเชิงวิชาการ มิติสังคม เชิงเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมาย กำลังทำกฎกระทรวงซึ่งเป็นหน้าที่ สธ.ต้องออก คือ จะอยู่ที่ 10 เม็ด โดยการครอบครองต่ำกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ มากกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้ค้า แต่นั่นเป็นมุมของผู้ปราบปราม -  นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ และ เสริมว่า 
 

"ผมเรียน รมว.ยุติธรรม ว่าแม้จะ 1 เม็ด แต่มีพฤติกรรมขายก็ต้องเป็นผู้ค้า นั่นเป็นหน้าที่ของท่าน แต่ในมุม สธ.ไม่ว่ากี่เม็ดเราก็ดูแลหมด แม้เราจะเป็นผู้ประกาศกฎกระทรวง แต่ไม่ว่ากี่เม็ด จะ 1 เม็ด 2 เม็ด 11 12 หรือ 13 เม็ดก็เป็นหน้าที่เราต้องบำบัดรักษา"

 
"ตอนนี้ให้ทีมกฎหมายของกระทรวงฯ พิจารณาเชิงวิชาการ มิติสังคม เชิงเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการครอบครองยา ต่ำกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ มากกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้ค้า ทุกอย่างดำเนินการร่วมกับ ป.ป.ส.พิจารณา เหลือขั้นตอนการออกประกาศกฎกระทรวงไม่ยุ่งยาก มั่นใจ ทำได้ภายในปลายเดือนนี้หรือเดือน ธ.ค."

ผู้จัดการออนไลน์ ไทยพีบีเอส  
 
ชลน่าน เตรียมออกกฎกระทรวง มียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ - นานาทัศนะรัฐมนตรี HealthServ

รมว.ยธ.ชี้เกณฑ์มียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ ไม่ต้องรับโทษ เพราะเข้าข่ายผู้ป่วย

 
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการปรับเกณฑ์การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด ให้ถือว่าเป็นผู้เสพ ไม่ต้องรับโทษทางอาญานั้น ว่าเป็นการยึดหลักวิชาการ โดยมีแพทย์มาร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปริมาณสารเสพติดเมื่อเข้าสู่ร่างกายจำนวนเท่าไหร่ จึงจะส่งผลทางจิตเวช โดยเห็นว่าผู้เสพยาไม่เกิน 10 เม็ด เข้าข่ายเป็นผู้ป่วย
 
ส่วนที่ว่าผู้ค้าบางรายอาจใช้ช่องโหว่ในการอ้างครอบครองไม่เกิน 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพนั้น ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่จะต้องสอบสวนอยู่แล้ว หากมีไว้เพื่อจำหน่ายเม็ดเดียวก็ถูกดำเนินคดี  [ผู้จัดการออนไลน์]

 

นายกฯ ยังไม่มีความเห็น ปมแก้กฎหมายมียาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด เป็นผู้เสพไม่ติดคุก

 
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 3/2566 ว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าในการประชุมวันนี้จะมีการเสนอเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ด เป็นผู้เสพและไม่ต้องรับโทษจำคุกหรือไม่ แต่คาดว่าจะไม่มีการเสนอในวันนี้เนื่องจากนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขไม่อยู่
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่มีความเห็น ต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก่อน เมื่อถามย้ำว่าจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาเรื่องนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องฟังเขาดูก่อน เขารอประชุมกันอยู่   [ไทยโพสต์]



สมศักดิ์ ชี้ ต้องดูพฤติกรรมเป็นหลัก ย้ำยึดหลักการแพทย์

 
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกกฎกระทรวง กำหนดการครอบครองจำนวนยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ เท่ากับเป็นผู้ป่วยต้องไปบำบัด ว่า คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดปริมาณสารบริสุทธิ์ในเม็ดยา ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หน่วยงาน คือ ปกครอง, ตำรวจ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข มีการหารือและสรุปความเห็น ซึ่งตามหลักการจะดูตามพฤติกรรมของผู้ขายและผู้เสพ และปริมาณสารเสพติดในเม็ดยา ซึ่งปัจจุบันยาบ้า 1 เม็ดมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 10-20 มิลลิกรัม ขณะที่พฤติกรรมของผู้เสพในหนึ่งวันจะเสพ 1-3 เม็ด และพกไม่เกิน 10 เม็ด แต่พฤติกรรมของคนขาย 1 แพ็กจะมี 10 เม็ด ดังนั้น ถ้าดูรวมๆ ถึงอันตรายในหนึ่งคน หากมีการบริโภคประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อวัน จะทำให้เกิดอาการหลอนเหมือนคนบ้า และถ้าเสพถึง 120 มิลลิกรัมจะทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเห็นว่า ในจำนวน 10 เม็ดจะมีปริมาณสารเท่ากับ 150 มิลลิกรัม ที่ประชุมจึงพิจารณาว่า ตัวเลขการถือครองของผู้เสพจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 เม็ด ดังนั้นจึงส่งข้อสรุปให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปสู่การประกาศ ในส่วนของ ป.ป.ส. ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว 
 
สมศักดิ์ยังระบุว่า ตามพฤติกรรมไม่ใช่ว่าถ้าพบเกิน 10 เม็ดจึงจะถือว่ามีความผิด การดำเนินคดีตามกฎหมายจะดูที่พฤติกรรม จะ 1 เม็ด หรือ 2 เม็ดก็เป็นผู้ขายได้ แต่ที่เรากำหนดตรงนี้เอาไว้ก็เพื่อให้โอกาสกับคนที่เป็นผู้เสพจริงๆ ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ไม่เป็นโทษจำคุก แต่ถ้าพบ 2 เม็ด หรือ 3 เม็ด แล้วมีพฤติกรรมเป็นผู้จำหน่ายก็ต้องมีโทษจำคุก   
 
สมศักดิ์ยังกล่าวว่า ในส่วนของการบำบัดรักษา มีทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ยกตัวอย่างที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่ไปดู เป็นเรื่องของประชาชน อบต. และมหาดไทย ที่ช่วยกันดำเนินการที่ได้ผลดี ถือเป็นโมเดลตัวอย่าง  
 
 
เมื่อถามถึงการบำบัดผู้ติดยาเสพติด จะมีการนำเรื่องโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กลับมาใช้หรือไม่ สมศักดิ์กล่าวว่า มีหลากหลาย เพราะการทำงานดูแลบำบัดจะเป็นเรื่องของการบูรณาการ ดูจากงบบูรณาการที่มีหลายหน่วยงาน ปีละ 7-8 พันล้านบาท โดยมี ป.ป.ส. เป็นหน่วยเลขาฯ ซึ่งมี 5 มาตรการเดิม เช่น การบริหาร การปราบปราม การป้องกัน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เพิ่มมาคือมาตรฐานที่ 6 คือการยึดทรัพย์ เพราะในคดียาเสพติดจะมีผู้ให้การสนับสนุน ผู้สมคบคิด และผู้วางแผนอยู่เบื้องหลัง จะไม่ดำชัดเจน จะเป็นลักษณะเทาๆ หากการดำเนินการล้วงลึกไปไม่ถึงผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นซึ่งเป็นตัวการใหญ่ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้ ตนเห็นบอร์ดใหญ่ของศาลฎีกาให้มีการเพิ่มแผนกยาเสพติดในศาลฎีกา ในส่วนของรัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนในชั้นกฎหมายของศาลอุทธรณ์ 
 
 
 
 

อนุทิน มหาดไทยไม่หนักใจ

 
ด้าน อนุทิน ชาญ​วี​ร​กูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แต่ละรัฐมนตรีก็มีนโยบายที่แตกต่างกันไป ตนหมดหน้าที่ตรงนั้นแล้ว ส่วนในฐานะมหาดไทยที่ต้องดูแลเรื่องนี้ก็ต้องคอยกำกับควบคุม ปราบปรามเรื่องของการขนยาบ้ายาเสพติด เรามีรายงานข่าวและดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง 
 
ส่วนจำนวนเม็ดจะเป็นช่องว่างหรือเป็นข้ออ้างให้ผู้ค้ายาเสพติดหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า ตอนยุคตน ตนบอกว่า 2 เม็ด นั่นคือสมัยตน แต่ตอนนี้ตนเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ เพราะไม่ได้กำกับดูแลสายงานกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ตนมากำกับสายงานมหาดไทย จึงต้องไปเน้นเรื่องของการปราบปราม สกัดกั้นวงจรยาเสพติด 
 
เมื่อถามว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติจะหนักใจเพิ่มหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า เป็นหน้าที่ การทำหน้าที่ไม่มีหนักใจ เพราะถ้าหนักใจก็มาอยู่ตรงนี้ไม่ได้  [The Standard]
 

Quick win นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด


              30 ตุลาคม 2566 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในพื้นที่ จำนวน 536 คน ร่วมประชุม


              นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการพัฒนารูปแบบการเข้ารับบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน (Quick win) โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ
 
              1.จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็น รูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care 1,265 เตียง โดยจะเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้
 
 
              2.มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ
 
 
              3.มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง (ร้อยละ 80.67) ที่เหลืออีก 150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจในนโยบายการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เกิดการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน “มินิธัญญารักษ์” และการบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Treatment : CBTx) ที่ชัดเจนในทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างเป็นปกติ


กระทรวงสาธารณสุข
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด