8 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบโล่รางวัล NCD Clinic Plus Awards ผลงานดีเด่นระดับประเทศ และรางวัลรูปแบบบริการ (Service Model) เชิงนวัตกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ปี 2566 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรถึง 41 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด โรค NCD มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่า มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.4 หรือเท่ากับว่า 1 ใน 4 ของคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และในจำนวนนี้เกือบครึ่งไม่ทราบว่าตนเองป่วย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 5 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 26.3 ที่สามารถควบคุมสภาวะของโรคได้ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพบริการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างมีคุณภาพ และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บป่วยได้ด้วยเช่นกัน
“ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และขอชื่นชมในความตั้งใจ เสียสละแรงกาย แรงใจ พัฒนางานเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะนำไปขยายผลต่อยอดให้กับพื้นที่อื่น และขอเป็นกำลังใจให้กับหน่วยงานที่แม้จะไม่ได้รับรางวัลในวันนี้ แต่ทุกหน่วยงานต่างมีความตั้งใจที่ดีในการร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับภัยสุขภาพ และพัฒนางานด้านบริการเพื่อประชาชนคนไทยมีสุขภาพชีวิตที่ดี” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อ ได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการคลินิกโรคไม่ติดต่อ ด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงาน NCD Clinic มาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับมาเป็น NCD Clinic Plus เพื่อให้ครอบคลุมและมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งพัฒนารูปแบบให้เป็นการประเมินผ่านระบบออนไลน์ และเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน (Real time) สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการอย่างเป็นองค์รวม ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน และลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
โดยในปี 2566 มีสถานพยาบาลที่ได้รับรางวัล NCD Clinic Plus Awards รวม 10 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท
1) ประเภทโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โรงพยาบาลหนองคาย จังหวัดหนองคาย และโรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร
2) ประเภทโรงพยาบาลขนาดกลาง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี และรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โรงพยาบาลพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
3) ประเภทโรงพยาบาลขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โรงพยาบาลบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนรางวัลรูปแบบบริการ (Service Model) ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ มีผลงานดีเด่น 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย
2) รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสระใคร จังหวัดหนองคาย
3) รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
4) รางวัลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่น ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพลายวาส จังหวัดสุราษฎร์ธานี