ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น เกินมาตรฐาน 12 จังหวัดแล้ว

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น เกินมาตรฐาน 12 จังหวัดแล้ว HealthServ.net
ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น เกินมาตรฐาน 12 จังหวัดแล้ว ThumbMobile HealthServ.net

สธ.เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น พบเกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 12 จังหวัด สถานการณ์อาจยาวไปถึงปลายเมษายน 2567 ย้ำประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หากค่าฝุ่นอยู่ระดับสีส้ม-แดง ควรลดกิจกรรมนอกบ้าน สวมหน้ากากป้องกันส่วนโรงเรียนควรมีมาตรการแจ้งเตือน จัดทำห้องปลอดฝุ่น

 22 พฤศจิกายน 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น หลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการติดตามคุณภาพอากาศเพื่อบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เมื่อเวลา 07.00 น.วันนี้ พบพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร (เกินมาตรฐานมากกว่า 3 วัน) นนทบุรี กทม. นครปฐม สมุทรปราการ สุโขทัย พิษณุโลก อุทัยธานี (เกินมาตรฐาน 3 วัน) พิจิตร (เกินมาตรฐาน 2 วัน) อ่างทอง สุรินทร์ และนครสวรรค์ (เกินมาตรฐาน 1 วัน)

ยังไม่มีรายงานพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในระดับสีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ (เกิน 75 มคก./ลบ.ม.)


           ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั้วโมง ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้รวดเร็วขึ้น
 
ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น เกินมาตรฐาน 12 จังหวัดแล้ว HealthServ
 
          “ผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน มีทั้งระยะสั้น เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ส่วนระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจ หยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย, ระบบทางเดินหายใจ, มะเร็งปอด รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด และกระทบต่อพัฒนาการของระบบสมองทารก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอด จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสเร็วกว่าประชาชนทั่วไป และ และอาจมีอาการของโรคกำเริบได้” นพ.ชลน่านกล่าว
 
          นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญที่มีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 ถึงฤดูร้อนปี 2567 ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศและหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเริ่มพบสถานการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2566 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ จากนั้นช่วงมกราคม-ปลายเมษายน 2567 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ไฟไหม้ป่า และหมอกควันข้ามแดนซึ่งเมื่อต้นปี 2566 พบค่า PM 2.5 สูงสุดถึง 537 มคก./ลบ.ม. ที่ จ.เชียงราย สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 14 เท่า


 
 
           ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ที่ Air4Thai หรือ App Life Dee และปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้ สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 – 37.5 มคก./ลบ.ม.) เลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก สังเกตอาการตนเอง สีส้ม (37.6 – 75 มคก./ลบ.ม.) และสีแดง (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทั่วไปลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยง ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นประจำ สถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานดูแลผู้สูงอายุ ควรมีมาตรการในการดูแลสุขภาพ เช่น แจ้งเตือน ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง เฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ จัดทำห้องปลอดฝุ่นในเป็นที่พักในช่วงค่าฝุ่นสูง ที่สำคัญ สถานศึกษาควรให้ความรู้ แก่นักเรียน เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและบอกต่อในครอบครัวและชุมชนได้ 
ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น เกินมาตรฐาน 12 จังหวัดแล้ว HealthServ

สถาบันโรคทรวงอก เตือน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 

 
 
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก จะส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างร้ายแรง ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบัน คือ มีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศที่ไม่สามารถควบคุมให้ลดลงได้   เช่น การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่เก่า การเผาป่า การเผาเชื้อเพลิง  ในโรงงานอุตสาหกรรม  รวมทั้งการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาทำให้ คุณภาพอากาศแย่ลง 
 
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  PM 2.5 ทำให้อวัยวะต่างๆของร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ด้วยฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นสามารถเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสมทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ  เป็นต้น  ฝุ่น PM 2.5  ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายได้หลายระบบ             


สำหรับ ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้   ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด  โรคถุงลมโป่งพองเกิดอาการกำเริบของโรค  เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบหืดในคนปกติ รวมทั้งหอบหืดในเด็ก และในระยะยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดลดลง จนเกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพองในผู้ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้  นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์หากสูดดมฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์อีกด้วย 
 
สัญญานที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5  คือ มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง ดังนั้นเราควรป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกายให้รีบมาพบแพทย์ทันที 
ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น เกินมาตรฐาน 12 จังหวัดแล้ว HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด