ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ของขวัญปี 67 สปสช.เพิ่ม 3 สิทธิรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผ่าตัดหุ่นยนต์-ฝังแร่-ฉายแสงรังสีโปรตรอน

ของขวัญปี 67 สปสช.เพิ่ม 3 สิทธิรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผ่าตัดหุ่นยนต์-ฝังแร่-ฉายแสงรังสีโปรตรอน HealthServ.net
ของขวัญปี 67 สปสช.เพิ่ม 3 สิทธิรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผ่าตัดหุ่นยนต์-ฝังแร่-ฉายแสงรังสีโปรตรอน ThumbMobile HealthServ.net

ที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อ 25 ธันวาคม 2566 มีมติสำคัญๆ หลายเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ที่สำคัญได้แก่การจัดงบสำหรับการบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ การรักษาโดยการฝังแร่ และการฉายแสงรักษาด้วยรังสีโปรตรอน รวมถึงการขยายการบริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพแก่คนไทยในต่างประเทศทั่วโลกผ่านระบบ Telemedicine ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายมะเร็งครบวงจรของสธ.และรัฐบาล ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนที่ดี

  
 
          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเพิ่มเติม นอกเหนือจากการรักษาด้วยรังสีโปรตอน ซึ่งเป็นบริการสาธารณสุขที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุดและมีความแม่นยำสูงมาก ใช้รักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งสมอง ข้อดีคือ รังสีจะทำลายก้อนมะเร็งแต่จะไม่ทำอันตรายกับเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบก้อนมะเร็ง ซึ่งได้แถลงไปแล้วหลังการประชุม (วานนี้)
 
          นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนในปี 2567 ได้แก่ การรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา (Plaque brachytherapy) และการรักษามะเร็งโดยการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด (Robotic Surgery) ในโรคมะเร็ง 3 รายการ คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี 

          ซึ่งแต่เดิม ไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้
 
 
          “สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นการหนุนเสริมให้เห็นภาพที่ชัดเจนของโครงการยกระดับ 30 บาท ของรัฐบาล นอกเหนือจากโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ที่จะมีการเปิดตัวนำร่อง 4 จังหวัดในวันที่ 10 มกราคมนี้” นพ.ชลน่านกล่าว
 
           นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า นอกจากสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งใน 3 เรื่องหลักๆ ดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังเพิ่มบริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพแก่คนไทยในต่างประเทศทั่วโลกผ่านระบบ Telemedicine โดยจะเป็นการให้คำแนะนำ คำปรึกษาและคัดกรองอาการป่วยเบื้องต้น โดยแพทย์คนไทย ที่นอกจากจะเป็นการให้การดูแลทุกคนที่เป็นคนไทยแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำว่า คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้สิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลจัดให้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงอย่างแท้จริง

มติเห็นชอบให้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน

       บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนในระบบบัตรทอง ซึ่งเป็นวิธีการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนที่เป็นเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและมีผลข้างเคียงลดน้อยลง โดยหลังจากนี้ สปสช. จะจัดทำประกาศเพื่อรองรับการจ่ายชดเชยตามที่กำหนดต่อไป

       “มติบอร์ดในวันนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก ช่วยให้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจากข้อมูลในระบบของ สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาเข้าข่ายที่จะรับบริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนนี้ได้ประมาณ 32,000 รายต่อปี (ข้อมูลจากฐาน IP ปี 65ของสปสช.) โดยในปี 2565 ใช้งบประมาณที่จำนวน 50 ล้านบาทต่อปี ในการดูแลผู้ป่วย” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว 


      ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่มาของสิทธิประโยชน์นี้มาจากข้อเสนอของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นข้อเสนอที่ได้จากการประชุมทีมแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาผู้เชี่ยวชาญการฉายรังสีโรคมะเร็งในเด็ก และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 
 
      ทั้งการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นวิธีรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผล มีอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และการรอดชีวิตที่สูงในกลุ่มโรคมะเร็งสมองในเด็ก ช่วยลดผลข้างเคียงในทุกด้านเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม โดยการรักษาต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย แพทย์รังสีรักษา แพทย์รังสีวินิจฉัยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ กุมารแพทย์ทางโลหิตวิทยาและรังสี (กรณีผู้ป่วยเด็ก) วิสัญญีแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล และวิศวกร 

 
      ปัจจุบันในประเทศไทยมีหน่วยบริการที่ให้บริการฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอนเพียงแห่งเดียว คือศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่สิงหาคม 2564 ดังนั้นในบริหารจัดการจ่ายชดเชย สปสช. จึงใช้รูปแบบเหมาจ่ายรายปี จำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมให้มีการจัดระบบการส่งต่อ ประสานงาน เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีการนำส่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วยอัตราเฉลี่ย 2,300 บาทต่อครั้ง 

 
      “หลังจากบอร์ด สปสช. เห็นชอบแล้ว จากนี้ สปสช. จะออกประกาศหลักเกณฑ์รองรับการจ่ายชดเชยค่าบริการ พร้อมดำเนินการตามที่บอร์ด สปสช. มอบหมาย ทั้งการกำกับติดตามประเมินผลการเข้าถึงบริการ การประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลการรักษา รวมทั้งจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการอย่างเท่าเทียมกันทุกสิทธิ และรายงานต่อคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุดฯ ทุก 4 เดือน และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนบริการและการดูแลผู้ป่วย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษ เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

มติรับทราบแนวทางดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์

 บอร์ด สปสช. ได้มีมติรับทราบแนวทางดำเนินการจ่ายค่าใช้จ่ายกรณีบริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยนำร่องให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. มะเร็งต่อมลูกหมาก 2. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (ในกลุ่ม CA rectum, CA Anal Canal) และ 3. มะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี (เริ่มในบริการ Whipple Operation) คาดการณ์ว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 500 ราย ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงประมาณ 50 ราย และมะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี อีกประมาณ 50 ราย รวมผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการทั้งหมดจำนวน 600 ราย ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายชุดอุปกรณ์ในการในการผ่าตัดหุ่นยนต์ประมาณ 100,000 บาทต่อราย รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งหมดจำนวน 60 ล้านบาท 

ทั้งนี้ หน่วยบริการที่จะร่วมให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในระบบบัตรทองฯ นี้ จะต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการผ่าตัดแผลเล็ก (MIS : Minimal Invasive Surgery) ที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการอื่นตามที่ สปสช. กำหนด ส่วนหน่วยบริการภาครัฐ 7 แห่ง ที่ให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์อยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถให้บริการต่อเนื่อง และถือว่าผ่านการประเมินแล้ว
 
“การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีความแม่นยำในการผ่าตัด โดยเฉพาะตำแหน่งที่เข้าถึงได้ยาก ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น มีระยะเวลาในการฟื้นตัวเร็วขึ้นทำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง รวมทั้งลดการสัมผัสระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้ผ่าตัด ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการและความปลอดภัยในการผ่าตัดให้กับประชาชน สิทธิประโยชน์นี้จึงนับเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว  
 
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน สปสช. ได้มีมติเห็นชอบการเพิ่มรายการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับและการผ่าตัดแผลเล็กเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 65 และได้มีผลการบริการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา ต่อมาในการประชุมคณะทำงานยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ขั้นสูงสุด สปสช. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ได้เห็นชอบข้อเสนอบริการการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่มข้างต้น เพื่อเป็นบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ควรสนับสนุนเพื่อสร้างความเป็นเลิศขั้นสูงสุดของไทย โดยมอบให้ สปสช. นำเข้ากระบวนการบริการ MIS และรายงานต่อคณะทำงานเพื่อทราบผลการดำเนินการ 
 
ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมกับคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการ การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) และการผ่าตัด. แผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักพัฒนาโรคร่วมไทย หารือแนวทางการให้บริการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ให้สอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน และนำมาสู่มติรับทราบของบอร์ด สปสช. ในวันนี้  โดยในขั้นต่อไป สปสช. จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเงื่อนไข ข้อบ่งชี้ อัตราจ่าย และแนวทางการติดตามประเมินผลต่อไป
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด