- เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต แหล่งผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานสากล พร้อมออกไปช่วยเหลือสังคม
- ด้วยเหตุนี้ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” จึงเป็นสถาบันฯ ที่ได้รับเกียรติจากอาจารย์แนะแนวในการติดต่อขอเยี่ยมชม
วันเสาร์ที่ 6 กรกฏาคม 2567 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเปิดบ้านแนะแนวการศึกษาเพื่อแนะนำคณะและหลักสูตรด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 200 คน จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เข้าสู่เส้นทางอาชีพด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การตอบคำถามอาจารย์และรุ่นพี่ เวิร์คช็อปจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้และซึมซับจากประสบการณ์จริงโดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม พร้อมคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษารุ่นพี่จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้การต้อนรับ ณ อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวถึงกิจกรรม “โครงการนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายสถานศึกษา ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงพันธกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในด้านการผลิตบัณฑิตแพทย์ พยาบาล และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มีคุณภาพทางวิชาการและสมรรถนะทางวิชาชีพที่เป็นเลิศ ตลอดจนแนะนำหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตจากทุกคณะวิชาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ และคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไป”
ภายในงานมีกิจกรรมเวิร์คช็อป อาทิ การตรวจปอดและหัวใจกับหุ่นจำลอง รุ่นพี่ให้คำแนะนำการเตรียมตัวเพื่อเข้าเรียนในสาขาวิชาต่างๆ การทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อใช้สมัครเข้าศึกษา ตัวอย่างแฟ้มสะสมผลงานของรุ่นพี่ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสัมภาษณ์ และแนะนำการตอบคำถามให้โดนใจคณะกรรมการ นักศึกษารุ่นพี่รังสีเทคนิคสาธิตการใช้งานเครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิทัลแบบพกพา “AirTouch portable X-ray” และ ทดลองให้น้องๆ ใส่ชุดตะกั่วป้องกันรังสีและสาธิตขั้นตอนปฏิบัติงานของนักรังสีเทคนิค ฝึก CPR กดหน้าอก ปั๊มหัวใจจากนักฉุกเฉินการแพทย์ สาธิตการทำแผลและอุปกรณ์ทางการพยาบาล ฐานฉีดยากับหุ่นติดไฟเขียวแดง และฐานทำคลอดจากรุ่นพี่นักศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ เป็นต้น
*ภาพ น้องๆ ให้ความสนใจกับเครื่องฟังเครื่องหัวใจ
น้องๆ ตั้งใจ เรียนรู้หลักสูตร
น้องๆ เยี่ยมชมการดูแลผู้ป่วย ด้านตัวแทนนักเรียนชั้น ม.6 จาก โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เผยว่า
วันนี้ที่มาโอเพ่นเฮ้าส์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรียกได้ว่าไม่ผิดหวังเลย เพราะได้รับการต้อนรับอย่างดี มีกิจกรรมแน่นด้วยคุณภาพได้ศึกษาแล้วก็เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ จากทุกคณะแบบวันเดียวจบ ว่ามีสาขาอะไรบ้าง และอะไรที่เราชอบเป็นพิเศษ ส่วนตัวแล้วสนใจหลักสูตรแพทยศาสตร์ เนื่องด้วยปัจจุบันและอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาควรจะได้มีส่วนช่วยเหลือบ้าง คิดว่าเรียนแพทย์แล้วเมื่อจบไปจะนำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือคนไข้ ช่วยเหลือสังคม นอกจากนี้ยังประทับใจกับสถานที่ มีอาคารที่ทันสมัยมาก สภาพแวดล้อมดี ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สะดวกในการเดินทาง อีกทั้งมีโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมอีกมากมาย เป็นส่วนที่ทำให้ประทับใจและอยากเข้ามาศึกษาที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แห่งนี้ในอนาคตมากๆ เลยครับ”
น้องๆๆลองใส่เสื้อเกราะ รังสีเทคนิค ด้านตัวแทนนักเรียนจาก โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เผยว่า
กิจกรรมวันนี้สนุกมาก เพราะอะไรที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นหลายๆ อย่างแบบชัดเจนก็เคลียร์หมด เบื้องต้นรับรู้ชื่อเสียงและหลักสูตรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในด้านการเรียนการสอนที่มีสาขาแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่แล้ว ซึ่งตอนแรกอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว บางทีสนใจแต่ไม่มีประสบการณ์ตรง โอกาสดีในวันนี้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่คำพูดหรือคำสอนเท่านั้น หากแต่ได้ลงมือปฏิบัติทำกิจกรรมของแต่ละคณะเลย โอเพ่นเฮ้าส์ เสมือนการเปิดโลกให้พวกเราได้เรียนรู้ สัมผัส และได้ทดสอบความถนัด อีกทั้งทำให้เห็นด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอย่างเราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่รู้ว่าเป็นแบบไหน เรียนกันอย่างไร วันนี้ได้มาเห็นกับตาและทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ”
น้องๆ ฝึกการทำแผลเบื้องต้น
“หลักสูตรที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นหลักสูตรที่จะได้ช่วยเหลือ แล้วก็อาจจะได้ค้นพบสิ่งที่คนในยุคก่อนหลายๆ คน เรียกว่าเป็นโรคเวรโรคกรรม บอกว่ามันไม่มีทางรักษา ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีแม้กระทั่งการใช้เอไอเพื่อจะเรียนรู้รหัสพันธุกรรม ช่วยหาตำแหน่งส่วนที่กลายพันธุ์ เพื่อที่จะได้ออกแบบยาหรือการรักษาที่ตรงเป้ามากขึ้น วันข้างหน้าโรคต่างๆ เหล่านี้ อาจจะมีโอกาสที่หายมากขึ้น คนในเจเนอเรชันตั้งแต่เราขึ้นไป นับวันจะร่วงโรยจากโลกนี้ แต่ก็ยังอุ่นใจที่สามารถฝากความหวังไว้กับเด็กๆ รุ่นใหม่ในวันนี้ได้ ขอบคุณที่สนใจราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และหลักสูตรค่ะ วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า น้องอาจจะเป็นคุณหมอ อาจจะเป็นพยาบาล อาจจะเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ หรืออาจจะเป็นนักวิจัยที่ค้นพบการรักษาใหม่ๆ ที่เป็นความหวังของโลกใบนี้ ท้ายสุดในนามราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรามีความเชื่อมั่นว่าเด็กไทยไม่แพ้เด็กชาติไหนในโลกนี้ ก็ขออนุญาตฝากความหวังไว้ในมือน้อยๆ ของเด็กๆ ทุกคน หวังว่าในวันข้างหน้าทุกๆ คนจะได้สร้างประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ แล้วก็เป็นความหวัง ซึ่งไม่ใช่แต่ของคนไทย แต่จะเป็นความหวังของมนุษยชาติ ที่เกี่ยวกับการค้นพบบางอย่างในโลกใบนี้” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
รุ่นพี่ อธิบายการดูแลคุณแม่ก่อนคลอด สแกนจากเครื่องอัลตร้าซาวน์