28 ธันวาคม 2566) ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางสุขภาพดิจิทัล (digital health) นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นายแพทย์ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้รับผิดชอบงานสุขภาพแรงงานข้ามชาติจาก 5 จังหวัดนำร่อง รวม 80 คน ร่วมหารือถอดบทเรียนสรุปผลการนำเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition) มาใช้ในการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันบุคคลประโยชน์ในงานบริการสาธารณสุขและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการระบุตัวตนด้วยเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition) เป็นโครงการสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุน จากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย โดยมีสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยประสานงานหลักกับสภากาชาดไทย เนคเทค ตลอดจนหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและสะดวกรวดเร็วในการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันบุคคล โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัวต้องประสบกับปัญหาระบุตัวตนเมื่อรับบริการในระยะที่มีการระบาดรุนแรงของโรคโควิด 19 และการคัดกรองโรคและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้กรมควบคุมโรคและสภากาชาดไทยซึ่งมีภารกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสุขภาพโดยไม่เลือกเชื้อชาติตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องหาวิธีระบุตัวบุคคลให้แม่นยำ โดยได้รับการสนับสนุนทีมนักวิจัยจากเนคเทค มาพัฒนาเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition) ของไทย
ปีที่ผ่านมาได้นำมาใช้ในพื้นที่นำร่อง พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบุตัวบุคคลได้อย่างดี เจ้าหน้าที่มีความพึงพอใจและเล็งเห็นประโยชน์ต่อแผนงานป้องกันควบคุมโรคและการดูแลสุขภาพ และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อขยายผลการดำเนินงานไปสู่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ตาก ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2566
มีแรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์จากการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลเพื่อรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขตลอดจนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว 8,619 คน โดยร้อยละ 80 เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา รองลงมาคือ กัมพูชา ร้อยละ 6.9 และลาว ร้อยละ 3.4
สภากาชาดไทยได้สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การใช้งานให้กับหน่วยบริการ ผู้ปฏิบัติงานจากพื้นที่นำร่องจะได้รับการอบรมการใช้งานก่อนนำไปปฏิบัติงาน พบว่าระบบนี้สามารถยืนยันตัวบุคคลแรงงานข้ามชาติที่มารับบริการที่โรงพยาบาลได้แม่นยำ สะดวกในการใช้งานกับการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการสุขภาพเชิงรุกในชุมชน เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งการคัดกรองสุขภาพต่างๆ อีกทั้งสามารถใช้งานร่วมกับการตรวจสุขภาพแรงงานก่อนการขึ้นทะเบียน
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะถัดไป ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการขยายหน่วยบริการให้ครอบคลุมในจังหวัดนำร่อง โดยสภากาชาดไทยพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์เพิ่มเติมในหน่วยบริการที่ร่วมโครงการ และเล็งเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมโยงข้อมูลที่จัดเก็บนี้กับข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาล ทั้งด้านการรักษา ป้องกันควบคุมโรคให้ครอบคลุมตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแผนงานย่อยและเป้าหมายของการระบุตัวบุคคลในงานบริการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติปีต่อไป ภายใต้การทำงานแบบพหุภาคีที่มุ่งไปสู่สุขภาพที่ดีของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย
*ภาพจาก
สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สภากาชาดไทย
White Paper การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบไบโอเมตริก PERSONAL VERIFICATION USING BIOMETRIC SYSTEMS โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีไบโอเมตริก (Biometrics) [
pdf] ถือเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลรูปแบบหนึ่งที่ถือเป็น ลักษณะเฉพาะทางสรีรวิทยา หรือ Physiological Characteristics และลักษณะเฉพาะทางพฤติกรรม หรือ Behavioral Characteristics ที่เน้นการใช้งานเพื่อบริการประชาชน ซี่งในรายงานฉบับนี้ได้มีการรวบรวมและนำเสนอเทคโนโลยี ไบโอเมตริก โดยแบ่งออกเป็น 6 ลักษณะเฉพาะที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ ใบหน้า ลายนิ้วมือ ลายม่านตา ลายเส้นเลือด ลายเซ็น และเสียงพูด ซึ่งแต่ละแบบจะมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณลักษณะที่สำคัญ เช่น ความเป็น เอกลักษณ์เฉพาะ ความคงทนถาวรในการใช้งาน การมีในมนุษย์ทุกคน การตรวจวัดได้ ประสิทธิภาพในการใช้งาน การยอมรับของผู้ใช้งาน และความยากในการปลอมแปลง โดยในรายงานฉบับนี้ จะแบ่งออกเป็น 5 บท เริ่มตั้งแต่บทที่ 1 ที่จะนำเสนอการศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะ ของไบโอเมตริกในแต่ละแบบ ที่จะช่วยตอบข้อสงสัยของหลายคนเกี่ยวกับหลักการทำงานเพื่อการรู้จำและแยกแยะ ลักษณะของบุคคลในแต่ละแบบ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจลักษณะในแต่ละแบบได้อย่างเด่นชัดมากขึ้น โดยมีอัลกอริทึม ที่ได้รับความนิยมในลักษณะเฉพาะแต่ละแบบ เช่น การรู้จำใบหน้า จะเป็นอัลกอริทึมการเรียนรู้ชิงลึก (Deep Learning) ที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการพัฒนาตนเองได้ โดยการเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่สอนโดยข้อมูล ที่มนุษย์กำหนดให้ ซี่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีหลายองค์กรที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ เนื่องจากมีความแม่นยำ ราคาไม่แพง ผู้ใช้ยอมรับ และปลอดภัย เพราะมีระยะห่างระหว่างบุคคล และอุปกรณ์ เป็นต้น
บทที่ 2 จะมีการยกตัวอย่างหรือ Used Cases เพื่อให้เห็นการนำเอาไบโอเมตริกไปใช้งานในรูปแบบ การให้บริการประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมในโครงการต่างๆ ที่โครงการส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาของประเทศ ในมิติต่าง ๆ และความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง
นบทที่ 3 จะเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานไบโอเมตริกกับข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการอ้างอิงถึง กฎหมายในประเทศไทย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540 รวมถึงประเด็นเทคโนโลยีไบโอเมตริกที่เกี่ยวข้องกับสิทธิส่วนบุคคลและ ข้อมูลส่วนบุคคลในต่างประเทศ เช่น ประเด็นการถูกฟ้องจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของ Facebook และ Google เป็นต้น ที่จะรวมไปถึงประเด็นการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็ก พร้อมทั้งประเด็นทางด้านจริยธรรม ซึ่งในบทนี้ จะทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่เป็นแนวทางเดียวกับสากล แต่ยังไม่มีในมุมของ การคุ้มครองสิทธิข้อมูลไบโอเมตริก
บทที่ 4 จะกล่าวถึง ภูมิทัศน์ของมาตรฐานไบโอเมตริกโดยรวม ซึ่งจะอธิบายถึงมาตรฐานสากล ISO/IEC JTC 1/SC37 ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักที่เกี่ยวข้องกับไบโอเมตริกที่ใช้ในการบริการประชาชน และมาตรฐาน ANSI/NIST ITL ซึ่งเป็นมาตรฐานไบโอเมตริกที่ใช้กับงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะทำให้ผู้สนใจเข้าใจถึง วัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละมาตรฐานได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
บทที่ 5 จะเป็นการนำเสนอแนวทางการวัดสมรรถนะของระบบไบโอเมตริกเพื่อเปรียบเทียบ ประสิทธิภาพของระบบในการนำไปใช้งาน ซึ่งแบ่งเป็นการวัดประสิทธิภาพระบบยืนยันตัวบุคคล การวัดประสิทธิภาพ ระบบค้นหาตัวบุคคล การวัดประสิทธิภาพการนำเข้าข้อมูล รวมถึงหน่วยงานอิสระต่าง ๆ ที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพ ของระบบไบโอเมตริกในปัจจุบัน พร้อมการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการประเมินสมรรถนะของระบบไบโอ เมตริกในแต่ละระดับ ทั้งการประเมินในระดับเทคโนโลยี ระดับการจำลองประยุกต์ใช้งาน และระดับปฏิบัติการ
MOU ความร่วมมือ ณ โรงพยาบาลนครท่าฉลอม
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย ณ โรงพยาบาลนครท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร
15 สิงหาคม 2566 นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย พร้อมด้วย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย เพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับงานด้านสาธารณสุข ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศดียิ่งขึ้น
โดยได้นำเอาเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและลายม่านตา ด้วยระบบ Face Recognition และ Iris Recognition เข้ามาช่วยสนับสนุนทางการแพทย์ ในการบันทึกข้อมูลของผู้รับบริการฉีควัคซีน และยืนยันตัวตน ในการเข้ารับวัคซีน รวมทั้งสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานด้านมนุษยธรรม โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับการบริการสาธารณสุขของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ณ ห้องประชุมแสงสุขเอี่ยม โรงพยาบาลนครท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร -
RTRC ประชุมร่วม ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
24 พฤศจิกายน 2566 นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล เข้าประชุมร่วมกับ กรมควบคุมโรค / ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) / สาธารณสุข จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ / กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ / โรงพยาบาลบางสะพาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงความเป็นมาการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย เพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับงานด้านสาธารณสุข ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศดียิ่งขึ้น โดยได้นำเอาเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและลายม่านตา ด้วยระบบ Face Recognition และ Iris Recognition เข้ามาช่วยสนับสนุนทางการแพทย์ ในการบันทึกข้อมูลของผู้รับบริการฉีควัคซีน และยืนยันตัวตน ในการเข้ารับวัคซีน รวมทั้งสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานด้านมนุษยธรรม โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับการบริการสาธารณสุขของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ณ ช่องกระจก ชั้น 4 อาคารศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ -
สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สภากาชาดไทย