14 กรกฎาคม 2567 จ.สระแก้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง เฉลิมพระเกียรติฯ ที่ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมคณะ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้จัด 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข คือ การยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง เพื่อขยายบริการทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนและลดการส่งต่อ
โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายดูแลสุขภาพชาวสระแก้ว ประมาณ 562,000 คน ได้พัฒนาระบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยจัดตั้ง “ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง” หรือคลินิกหมอครอบครัว Smart PCC ให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการ ทั้งลงทะเบียนผ่านตู้ Kiosk ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อุณหภูมิร่างกาย ผ่านเครื่องอัตโนมัติ ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตาด้วย AI ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง ทำให้คัดกรองผู้ป่วยและรักษาได้เร็วขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนจักษุแพทย์ใช้เครื่องไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) ตรวจวัดความเครียดและสุขภาพหลอดเลือด เป็นต้น
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จ.สระแก้ว ยังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยจัดตั้ง “สถานีสุขภาพ” (Health Station) ที่ศาลากลางประจำหมู่บ้านหรือร้านค้าในชุมชน เพื่อเป็นจุดบริการสุขภาพเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น ทั้งวัดความดันโลหิต เจาะวัดน้ำตาลในเลือด ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ตลอดจนให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาล ซึ่งบางแห่งยังมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อตรวจรักษากับแพทย์ประจำโรงพยาบาล รวมถึงบริการรับยาโรคเรื้อรังต่อเนื่องในผู้ป่วยที่อาการคงที่ด้วย ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย โดยในปี 2566 ได้มีนโยบาย “1 ตำบล 1 สถานีสุขภาพ” ส่งผลให้ปัจจุบันมีสถานีสุขภาพรวม 340 สถานี นอกจากนี้ ยังนำระบบ Telemedicine มาใช้ในในเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังที่ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล