สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดประชุมคณะทำงาน Health System Intelligent Unit (HSIU) ครั้งที่ 1/2567 โครงการหน่วยประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ: กรณีการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้น ซึ่งเป็นฐานในการรับฟังความคิดเห็นของคณะทำงานฯ ในการพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพ รวมทั้งการกำกับทิศทางการทำงานวิชาการและงานวิจัยให้สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับแต่ละพื้นที่ และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในระดับประเทศต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ประธานคณะทำงาน HSIU เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยคณะทำงาน HSIU ทั้งรูปแบบ onsite และ online อาทิ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส., นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ, นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย, นายวิทยา โชคเศรษฐกิจ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการกระจายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ทั้งนี้ในการประชุมฯ ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้น 4 โครงการ 1) การศึกษาต้นทุนการจัดบริการสาธารณสุขของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อบจ. โดย ดร.นภชา สิงห์วีรธรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) การติดตามสถานการณ์ด้านระบบข้อมูลสุขภาพ และการออกแบบการจัดการระบบข้อมูลสุขภาพที่เหมาะสม ภายใต้การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ. โดย ดร.นพ.พินิจ ฟ้าอำนวยผล มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ 3) การวิจัยเชิงสังเคราะห์: ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปปฏิบัติงานที่ รพ.สต. โดย ดร.นพ.ฑิณกร โนรี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ 4) การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบบริการด้านยาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพของ รพ.สต. สังกัด อบจ. โดย ผศ.ดร.ภญ.เพ็ญนภา ศรีหริ่ง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคณะทำงาน HSIU ในการพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลของหน่วยประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ (HSIU) กรณีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. โดย ดร.สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และเลขานุการคณะทำงาน HSIU รายงานสถานการณ์การถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ไป อบจ. ว่า ณ ปีงบประมาณ 2567 (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร) มี อบจ.ที่ได้รับการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. จำนวน 62 จังหวัด, มี อบจ. ที่ยังไม่ได้รับการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. จำนวน 14 จังหวัด โดยมีจังหวัดที่ถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. 100% จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู มุกดาหาร ภูเก็ต ปัตตานี แพร่ ระยอง ชลบุรี และมีประเด็นติดตามจากปี 2566 ที่พบข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ การจัดสรรงบประมาณจาก สปสช. ให้แก่ รพ.สต. ถ่ายโอน มีรูปแบบที่หลากหลายตามการตกลงกันในระดับพื้นที่ โดยระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขไม่รองรับการจัดสรรงบค่าบริการจาก CUP ให้แก่ รพ.สต. ถ่ายโอน, บาง รพ.สต. สามารถให้บริการได้เช่นเดิม ในขณะที่บาง รพ.สต. มีการให้บริการบางรายการลดลง เช่น บริการคลินิกโรคเรื้อรัง และการให้ความสำคัญกับมาตรฐานการดูแลด้านสาธารณสุข, หลังการถ่ายโอน บาง อบจ.ทำข้อตกลงกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้โรงพยาบาลแม่ข่าย ยังคงสนับสนุนการบริหารจัดการระบบยาเช่นเดิม ในขณะที่บาง อบจ. ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการระบบยาเอง ซึ่งรูปแบบระบบการจัดการยาแตกต่างตามบริบทของพื้นที่, บาง รพ.สต. ส่งข้อมูล เช่น รายงานการควบคุมโรค (506) ให้ สสจ. เหมือนก่อนการถ่ายโอน แต่บางแห่งส่งข้อมูลลดลง และบางแห่งไม่ส่งข้อมูล ส่วนมุมมองและความคาดหวังของประชาชนต่อ รพ.สต. ทั้งที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอน ไม่ต่างกัน คือต้องการบริการที่ดี มีคุณภาพ สะดวก และมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ย้ำว่า สวรส. ยังคงเดินหน้าสร้างองค์ความรู้เชิงประจักษ์ผ่านงานวิจัยคุณภาพ เพื่อสนับสนุนข้อมูลวิชาการให้กับพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการบริหารแบบแยกส่วน โดยมี รพ.สต. ส่วนหนึ่งถูกถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้สังกัด อบจ. จำเป็นต้องมีข้อมูลสนับสนุนการวางระบบในทุกเรื่อง เช่น การจัดสรรและบริหารงบประมาณ ควรมีหลักการที่ถูกต้องและเหมาะสมตามภารกิจที่ดำเนินงาน การจัดซื้อยา ไม่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้จัดซื้อ ต้องมีการดำเนินการตามมาตรฐานที่ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งงานวิชาการจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่สุดท้ายอาจมีการนำข้อมูลจากข้อเสนองานวิชาการไปปรับเพิ่มเติมก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ โดยหน่วย HSIU จะเป็นเสมือนคลังสมองทางด้านวิชาการที่เน้นทำงานตอบโจทย์การเปลี่ยแปลงแบบเร่งด่วน เพื่อนำข้อค้นพบและข้อเสนอจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวรส. มีการสนับสนุนทุนวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นการกระจายอำนาจด้านสุขภาพมาโดยตลอด และในกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. สวรส. ได้มีการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ระยะแรก ในปี 2565-2566 ซึ่งในระยะนี้เน้นไปที่การศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ ส่วนระยะที่ 2 ปี 2566-2567 งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนก็ทยอยแล้วเสร็จ และพร้อมที่จะส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นในปี 2567-2568 นี้ สวรส.และหน่วย HSIU จะมีการจัดเวทีประชุมเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานครั้งสำคัญ ทั้งภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคสาธารณสุข เพื่อสื่อสาร แลกเปลี่ยน รับฟังข้อเสนอแนะ และพัฒนาเครือข่ายกองสาธารณสุขของ อบจ.ที่รับถ่ายโอนฯ ตลอดจนมีการสรุปข้อค้นพบจากงานวิจัยให้กับผู้เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ข่าวและภาพจาก
สวรส.