เพียงวันเดียวหลังจากที่ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับ
การพบผู้ป่วยต้องสงสัย ที่เชื่อว่า จะป่วยเป็นโรคฝีดาษวานร (Mpox) ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ มาจากประเทศแถบแอฟริกาเข้าประเทศไทย เมื่อ 14 สิงหาคม โดยปรากฏอาการและซักประวัติแล้ว เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงเร่งส่งตรวจไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันผลอีกครั้งนั้น
ล่าสุดวันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยการมอบหมายจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่า
ยืนยันผลพบเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ clade Ib ในผู้ป่วยรายนี้ จริง ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการวินิจฉัยในประเทศไทย
ผู้ป่วยรายนี้ เป็นชายชาวยุโรปที่ติดเชื้อฝีดาษวานร clade Ib ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าจะต้องรายงานผลการพบนี้ ไปยังองค์การอนามัยโลกตามมาตรฐาน IHR
ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด
สำหรับการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายดังกล่าว จำนวน 43 ราย ขณะนี้ยังไม่พบรายใดมีอาการป่วย ซึ่งกรมควบคุมโรคยังคงเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที
“โรคฝีดาษวานร ส่วนใหญ่มักมีอาการผื่นขึ้นตามร่างกาย ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการไอหรือมีน้ำมูก จึงมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้น้อยกว่าโรคโควิด 19 หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการไอและมีน้ำมูก การติดเชื้อโรคฝีดาษวานร ยังเป็นการสัมผัสใกล้ชิด ดังนั้นการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด และหลีกเลี่ยงสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าจากประเทศที่มีการระบาด เช่น กระรอก หนู จะเป็นวิธีที่ป้องตนเองได้” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
เข้มงวดมาตรการด่านระหว่างประเทศ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการการเฝ้าระวังควบคุมต่อไปว่า กรมฯ ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรคทุกด่าน โดยเฉพาะด่านที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เข้มงวดมาตรการ ในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และไม่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องที่ไหน
หากต้นทางเป็นประเทศที่มีการระบาด ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ
ด้านนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากในพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลือง 42 ประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ที่เดินทางลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคฯ ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับการวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามอาการ และสังเกตผื่นตามร่างกาย หากมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะมีการแยกกักผู้เดินทาง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม พร้อมเก็บสิ่งส่งตรวจ เพื่อส่งห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ และส่งผู้ป่วยต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่เตรียมพร้อมสำหรับการคัดกรองและกักกันโรคเพิ่มเติม ดังนี้
ให้ผู้เดินทางที่เดินทางมาจาก 42 ประเทศเขตติดโรค และประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษวานร ลงทะเบียนระบบ Thai Health Pass ล่วงหน้า ก่อนเข้าสู่ระบบ Check in ของสายการบิน ณ ประเทศต้นทาง
เมื่อผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ จะต้องผ่านการคัดกรอง และวัดอุณหภูมิร่างกายด้วย handheld thermoscan หากอุณหภูมิเกิน 36.8 องศาเซลเซียส จะต้องวัดอุณหภูมิทางหูซ้ำอีกครั้ง ซักประวัติ อาการเพิ่มเติม จึงจะผ่านไปยังพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และหากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพบเจอผู้โดยสาร ที่มีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร ให้ส่งกลับมารับการตรวจเพิ่มเติม ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ
มีการแจก Health Beware Card สำหรับผู้เดินทางทุกคน จากประเทศเสี่ยง กรณีมีอาการหลังจาก เข้าประเทศ ให้รายงานอาการผ่าน QR code ที่ปรากฏบน Health Beware Card เพื่อให้ทางกรมควบคุมโรคได้ติดตามต่อเนื่อง และเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เตรียมความพร้อมสำหรับการกักกัน หากมีการ แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเตรียมอาคารกักกันโรค 4 ชั้น จำนวน 60 ห้อง หากมีการเดินทางแบบครอบครัวจะมีห้องกักกันแบบกลุ่มเตรียมสำรองไว้พร้อม