ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

อนุทิน ชาญวีรกูล คีย์แมนสำคัญยกระดับบัตรทอง

อนุทิน ชาญวีรกูล คีย์แมนสำคัญยกระดับบัตรทอง Thumb HealthServ.net
อนุทิน ชาญวีรกูล คีย์แมนสำคัญยกระดับบัตรทอง ThumbMobile HealthServ.net

การยกระดับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งประกอบด้วยการเปิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการได้ทุกที่ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม และการแจ้งเปลี่ยนหน่วยบริการประจำแล้วใช้สิทธิได้เลยโดยไม่ต้องรอ 15 วัน ถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวใหญ่ของระบบบัตรทอง ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้วก็นับเป็นเรื่องยากในการผลักดัน เพราะต้องใช้พลังในระดับนโยบายอย่างมาก ลำพังแค่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยากจะทำ แต่ถ้าหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตอบสนองก็ไม่สามารถทำได้

อนุทิน ชาญวีรกูล คีย์แมนสำคัญยกระดับบัตรทอง HealthServ
 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการ สปสช.อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เป็น “คีย์แมน” หนึ่ง ที่มีความสำคัญในการผลักดันนโยบายและเป็นผู้ริเริ่มการยกระดับบัตรทอง
 
เมื่อเร็วๆนี้ นายอนุทิน ได้ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ในงานประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคประชาชนยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมาและได้อธิบายหลักคิดในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
 
"เพราะเป็นเรื่องยากเราถึงต้องทำ ตัวผมเมื่อมีโอกาสมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้วจะทำสิ่งง่ายๆ ได้อย่างไร ต้องทำเรื่องยากให้เกิดขึ้น" คำพูดประโยคนี้ สะท้อนหลักคิดของนายอนุทินได้เป็นอย่างดี
 
นายอนุทิน เล่าย้อนไปถึงอดีตสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงนั้น สปสช.เพิ่งเริ่มก่อตั้ง แม้จะใช้ชื่อโครงการว่า 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่ครอบคลุมทุกโรคได้จริง เช่น โรคไตไม่ครอบคลุม ทำฟันก็ไม่ครอบคลุม
 
"ตอนนั้นผมก็ยังคุยกับทีมงานว่าแล้วจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรคได้อย่างไร แต่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วย ทำอะไรมากไม่ได้ แล้วก็ตั้งใจว่าต้องผลักดันให้รักษาทุกโรคให้ได้" อนุทิน กล่าว
 
 
 อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้พัฒนาตัวเองมาตลอด คณะกรรมการหลายชุดที่ผ่านมาได้ทำสิ่งที่ควรจะให้เกิดก็คือรักษาทุกโรคได้ จนถึงปัจจุบันนี้ 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถอธิบายตัวเองได้แล้วว่ารักษาทุกโรคจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม ถ้าคนที่มีสิทธิบัตรทองป่วยขึ้นมา สปสช. จะไปดูแลให้ นี่คือการพัฒนาในแต่ละย่างก้าวของ สปสช.
 
อนุทิน กล่าวอีกว่า เมื่อมีโอกาสได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลนี้ก็มีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนให้ดีขึ้น ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วก็ต้องเป็นประธาน สปสช.ด้วย ตำแหน่งเหล่านี้มีความทับซ้อนกันอยู่เพราะ 2 หน่วยงานนี้ คนนึงเป็นผู้ให้เงิน คนนึงเป็นผู้ให้บริการ แต่ถ้ามองในแง่ดีก็คือนโยบาย สปสช. ที่เกิดขึ้นก็สามารถนำไปผลักดันที่กระทรวงสาธารณสุข หรืออีกมุมหนึ่งก็สามารถรับความคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไรแล้วนำมาผลักดันที่ สปสช.
 
"ช่วง 14-15 เดือนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ต้องบอกว่าการประชุมที่สนุก เร้าใจ แล้วก็ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งคือการประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการ 33 ท่าน แต่ละคนเรียกว่ายอดฝีมือมาจากทั่วทุกสารทิศ บางทีผมก็เถียงกับเขาบ้าง บางทีก็โดนดุบ้าง โดนเขาว่าบ้าง ตำหนิบ้าง มีโกรธบ้าง แต่สิ่งที่ผมต้องให้ความร่วมมือเขาตลอดเวลาคืออะไร ทั้ง 30 กว่าคนที่นั่งอยู่ในบอร์ด สปสช. ท่านอ่านเข้าไปในใจเขาได้เลยว่าเขาคิดถึงประชาชนทุกคน นี่คือสิ่งที่บางทีผมก็ยัวะนะ อยากจะเถียงสวนออกไป แต่ไม่กล้าครับ เพราะว่าเขากำลัง represent จิตใจของประชาชน เขาสะท้อนความต้องการของประชาชนมาให้บอร์ด สปสช. ได้ฟัง พอมีคำว่าประชาชน ภาคการเมืองอย่างผมที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ต้องยอม ไม่มีสิทธิ์โต้เถียง นี่คือความสวยงามของการทำงานร่วมกันที่ต่างคนต่างทำเพื่อประชาชน อันนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ สปสช.เดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าเอาประโยชน์ของประชาชนมาเป็นเป้าหมาย" อนุทิน กล่าว
 
ทั้งนี้ นโยบายการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพใน 4 เรื่องนี้เอง ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดจากการดำรงตำแหน่งใน 2 หน่วยงานนี้และทำให้สามารถผลักดันนโยบายได้อย่างราบรื่น
 
อนุทิน ขยายความว่า หลักการง่ายๆ ของเรื่องนี้คือในเมื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว ทำไมไม่รักษาทุกที่ไปด้วย ทำไมคนไทยที่ไปทำงานต่างภูมิลำเนา เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ต้องมีการส่งตัว ต้องมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย เหตุใดจึงไม่ใช้ฐานข้อมูลเพื่อให้ป่วยที่ไหนก็สามารถเข้ารักษาในพื้นที่นั้นได้
 
เมื่อมีแนวคิดเช่นนี้ก็ได้หารือความเป็นไปได้กับทาง สปสช. ซึ่ง สปสช.ก็ตั้งใจจะทำอยู่แล้ว แต่ขาดการผลักดัน กระทรวงสาธารณสุขในบางส่วนยังไม่ตอบรับ ดังนั้น ตนจึงนำเรื่องนี้มาหารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขตลอดจนปรึกษากับทีมงาน แน่นอนว่าคำตอบแรกคือไม่ได้ เพราะยังมีข้อกังวลว่าหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้คนเข้าไปรักษาแต่โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลขนาดเล็กก็ไม่มีคนเข้า
 
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของอนุทินกลับมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นกังวล เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์พยาบาลมากมาย มีโรงพยาบาลแทบทุกอำเภอ ดังนั้นนอกจากการจัดระบบต่าง ๆ ของ สปสช. เพื่อรองรับนโยบายนี้แล้ว อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือฝั่งกระทรวงสาธารณสุขเองก็ต้องยกระดับโรงพยาบาล ยกระดับการให้บริการประชาชนไปด้วย ต้องไม่มีคำว่าโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลเล็ก มีแต่คำว่าโรงพยาบาลที่ดี โรงพยาบาลที่รักษาคนไข้ได้มากที่สุด ทุนหรืองบประมาณต่าง ๆ ก็ต้องสนับสนุนลงไปทำให้เกิดการยกระดับโรงพยาบาลขึ้นจริง
 
การยกระดับเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอจากรัฐบาล ซึ่งอนุทิน ยืนยันว่าขอมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพของประชาชนเต็มที่ ถ้าเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้อธิบายให้ได้ถึงความจำเป็น ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีอนุมัติอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการของแพทย์พยาบาล บรรจุข้าราชการ การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล เพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ การซื้อยา การพัฒนาวัคซีน เรื่องสวัสดิการของ อสม. สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในแพคเกจที่รัฐบาลมีความเต็มใจที่จะให้ ด้วยความเชื่อและมุ่งหวังที่ว่าเมื่อประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความเข้าใจระบบการสาธารณสุข มีความเข้าใจเรื่องการรักษาตัวเองแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีความเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจและความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ
 
"30 บาทรักษาทุกที่จะเป็นภาค 2 ของ 30 บาทรักษาทุกโรค มีบริการที่ยกระดับ เจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ป่วยอาการหนักสามารถใช้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ตั้งแต่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเริ่มในเขต กทม.ก่อน และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2565 จะขยายครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศ แน่นอนว่าถ้าเจอเคสยุ่งยากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ แบบนั้นต้องใช้ระบบส่งต่อซึ่งปัจจุบันก็ทำอยู่แล้ว แต่เรื่องการรักษาทุกที่ตอนนี้ก็คือโรคทั่วไป เบาหวาน ความดัน หัวใจ หวัด ไข้ แต่ที่ได้เพิ่มโรคยากๆเข้าไปด้วยคือมะเร็ง" อนุทิน กล่าว
 
ทั้งนี้ นอกจากการเปิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่แล้ว เรื่องมะเร็งเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่อนุทินผลักดันให้สามารถเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมที่ไหนก็ได้ เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งบางทีถ้าเกิดไม่รักษาทุกที่ เจอคิวในบางภาค ไม่ทันได้รักษาก็เสียชีวิตก่อน ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งทุกคนในประเทศไทยก็จะสามารถตรวจรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ไม่ต้องรอคิวเหมือนที่ผ่านมา ไม่ต้องถูกจำกัดสิทธิ์ให้ไปใช้บริการเฉพาะหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้
 
"กระทรวงสาธารณสุขจัดหาเครื่องฉายรังสีมะเร็งอีก 7 เครื่องเพื่อไปไว้ตามศูนย์มะเร็งทั่วประเทศ ด้วยความหวังว่าจากนี้ไป ผู้ป่วยที่ต้องรับการฉายรังสีด้วยโรคมะเร็งจะไม่ต้องเดินทางไกลไปๆ มาๆ แล้วคิวก็จะน้อยลง เครื่องฉายรังสีเครื่องหนึ่งราคา 100 กว่าล้านบาท แต่ถ้าสำหรับดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยโรคมะเร็ง ไม่เสียดายเงินเลย คณะรัฐมนตรีอนุมัติโดยไม่ถามสักคำ" อนุทิน กล่าว
 
นอกจาก 2 เรื่องนี้แล้ว Pain Point ของผู้รับบริการยังมีอีก 2 เรื่อง ซึ่งก็จะถูกยกระดับการบริการเช่นกัน นั่นก็คือผู้ป่วยในจะสามารถใช้บริการหน่วยบริการใดหรือโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับบริการจะทราบดีว่าการขอใบส่งตัวต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ โดยจะเริ่มนำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 ก่อน ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 และตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2565 ทั้ง 12 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขก็จะใช้ระบบนี้ทั้งหมด ส่วนอีกเรื่องคือประชาชนทุกคนจะสามารถใช้บริการได้ทันทีเมื่อแจ้งเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ไม่ต้องรอเวลาเกิดสิทธิ แจ้งปุ๊บเดินไปรักษาได้เลย ไม่ต้องมีใครอนุมัติ ถือว่าอนุมัติด้วยการแจ้ง ซึ่งขณะนี้ สปสช.กำลังเร่งยกระดับเรื่องของฐานข้อมูลและพร้อมจะให้บริการได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป
 
"การยกระดับ 4 บริการนี้จะเป็นการพัฒนางานบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยให้เป็นบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกดูแลรักษาบริการพี่น้องประชาชนให้เข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และหวังว่าจะได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมาเป็นลำดับ ถ้าสุขภาพที่ดี มีระบบการรักษาที่ดี ทุกคนก็อยากทำมาหากินสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัว แล้วไทยจะเป็นประเทศที่พลิกฟื้นมาก่อนคนอื่น" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
 
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อนุทิน เน้นย้ำทิ้งท้ายว่าเรื่องอื่นประเทศไทยจะสู้เขาไม่ได้ แต่เรื่องของด้านการสาธารณสุข เรื่องของสุขภาพ ไทยเราต้องไม่เป็นรองใคร

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด