ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

คนไทยติดคุกด้วยคดีอะไรกันบ้างนะ - ดร.พนิต ภู่จินดา

คนไทยติดคุกด้วยคดีอะไรกันบ้างนะ - ดร.พนิต ภู่จินดา Thumb HealthServ.net
คนไทยติดคุกด้วยคดีอะไรกันบ้างนะ - ดร.พนิต ภู่จินดา ThumbMobile HealthServ.net

เมื่อปี 2561 มีรายงานข่าวที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากที่สุดเป็นอันดับหกของโลก หรืออันดับสามของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีคนที่ต้องติดอยู่ในคุกประมาณสามแสนห้าหมื่นคน



เป็นนักโทษชายประมาณ 85% นักโทษหญิง 15% ซึ่งแยกเป็นนักโทษเด็ดขาดที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คนที่ถูกฝากขังระหว่างดำเนินคดี และคนที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมาย

แต่พื้นที่เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศสามารถรองรับผู้ต้องขังประมาณ 120,000 คนเท่านั้น

ประเทศไทยจึงมีทั้งปัญหาที่มีคนถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกเป็นจำนวนมาก ซ้อนอยู่กับความไม่เพียงพอของพื้นที่ที่จะจำคุกคนเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่งด้วย

 
ถ้าพิจารณาเฉพาะกลุ่มนักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้ถูกศาลตัดสินให้จำคุกเรียบร้อยแล้วมีประมาณ 80% ของ ผู้ต้องขังทั้งหมด ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2559 รายงานว่านักโทษเด็ดขาดประมาณ 60% ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 2 ถึง 10 ปี อีกประมาณ 11% ถูกตัดสินจำคุกในคดีอุกฉกรรจ์ ต้องถูกจำคุกระหว่างระหว่าง 20 ถึง 50 ปี

มีนักโทษเด็ดขาดที่กระทำผิดด้วยคดียาเสพติดถึง 72.39% รองลงมาคือกลุ่มความผิดต่อร่างกายและชีวิตรวมกันประมาณ 12% และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ยักยอกฉ้อโกง ลักทรัพย์อีกประมาณ 10%

แสดงให้เห็นว่าคดียาเสพติด คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยกลายเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก
 


ถ้าพิจารณาเฉพาะคดียาเสพติดเพียงอย่างเดียวก็พบว่า เป็นคดีที่ผู้เสพยาเสพติดถูกลงโทษประมาณ 40% และผู้จำหน่ายถูกลงโทษประมาณ 60% แต่ที่น่าสนใจคือผู้ผลิตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งเป็นต้นทางของยาเสพ กลับติดถูกจับกุมดำเนินคดีจนเป็นนักโทษเด็ดขาดเพียง 2% ของนักโทษยาเสพติดเท่านั้น หมายความว่าเราจับได้แต่คนเสพกับคนจำหน่ายเป็นหลัก แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงตัวคนผลิตนำเข้าหรือส่งออกได้มากนัก


ถ้าพิจารณาประเภทของยาเสพติดพบว่านักโทษเด็ดขาดทั้งหลายมีความผิดอันเนื่องจากยาบ้าหรือแอมเฟตามีนถึงเกือบ 90% ทีเดียว ต้นเหตุเพราะเป็นยาเสพติดที่แพร่หลาย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทั้งในแง่ของการซื้อขาย และมีราคาที่ถูกกว่ายาเสพติดประเภทอื่น ๆ อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นยาเสพติดที่ทำให้ทำงานได้มากขึ้น เดิมเคยชื่อยาม้ายาขยันสะท้อนคุณสมบัติของยาเสพติดส่วนนี้ ว่าจะช่วยให้ทำงานได้มากขึ้นจนสุดท้ายเปลี่ยนชื่อมาเป็นยาบ้าในปัจจุบัน
 

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุของนักโทษเด็ดขาดพบว่ากลุ่มอายุตั้งแต่ 21 จนถึง 40 ปีเป็นกลุ่มที่ติดคุกมากที่สุดถึงประมาณ 70% หรือประมาณสองแสนคนคน หมายความว่าประเทศชาติสูญเสียประชากรวัยแรงงานไปเป็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องปัญหาของนักโทษล้นคุกถึง 2.5 เท่าของความสามารถในการรองรับนักโทษ ก็ได้มีแนวทางในการใช้การปล่อยตัวชั่วคราวและติดกำไลอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Monitoring – EM) เพื่อติดตามพฤติกรรมของนักโทษ รวมถึงการลดการลงโทษจำคุกในชั้นคุมประพฤติ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากนัก เนื่องจากสังคมไทยยังมองว่าแม้ว่าจะได้รับการลงโทษจนครบตามกฎหมาย ถูกปล่อยตัวมาใช้ชีวิตปกติในสังคมแล้ว แต่ก็เป็นผู้ไม่พึงประสงค์ของสังคม จะไปใช้ชีวิตปกติทำงานทำการอย่างคนทั่วไปก็มีอุปสรรค เรื่องประวัติเก่าที่ไม่ดีไม่ได้มีโอกาสทัดเทียมกับคนอื่น

นำไปสู่การมีนักโทษที่ต้องโทษซ้ำตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปถึง 25% ของนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด สะท้อนถึงปัญหาของผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว ว่าจะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างไร
 

จากข้อมูลที่แสดงไว้ด้านบนสามารถตีความได้ว่า ปัญหายาเสพติดคือต้นทางของการมีนักโทษอยู่ในคุกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นยาเสพติดที่อยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานทำให้เสพติดง่าย ซื้อง่ายขายคล่อง เพราะผู้ขายและผู้เสพเห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติในชีวิตการทำงาน

กับอีกมุมหนึ่ง สังคมไทยก็มีปัญหาในการเตรียมตัวรับผู้พ้นโทษ ทั้งในแง่การเตรียมตัวให้ผู้พ้นโทษออกสู่สังคมได้อย่างราบรื่น และการเตรียมสังคมภายนอกที่จะต้อนรับนักโทษผู้กลับใจให้เข้ามาสู่สังคมได้อย่างอบอุ่นและเป็นมิตร ไม่ให้เขาต้องกลับไปทำผิดซ้ำอีกปัญหาคนล้นคุกจึงไม่ใช่แค่มาตรการลงทัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่มันคือมาตรการที่คนทั้งสังคมไทยต้องช่วยกันเพื่อลดจำนวนคนทำผิดจนถึงขั้นจำคุกลงให้ได้มากที่สุด


ดร.พนิต ภู่จินดา
 
***บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์ Rabbit Today เมื่อปี 2019

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด