+++++
คำแนะนำการใช้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
ข้อมูลที่ให้ในบท “คำแนะนำการใช้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายที่มาของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ รวมทั้งความหมายของเนื้อหาในแต่ละบท แต่ละหัวข้อ และภาคผนวกของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติเล่มนี้
ตำราเล่มนี้ คณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ รวมทั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งหวังให้เป็น “รายการตำรับยาแห่งชาติ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “National Formulary” ของตำรับยาแผนไทย จึงมีชื่อเรียกว่า “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ (National Thai Traditional Medicine Formulary)” ซึ่งเป็นเอกสารทางการที่รวบรวมตำรับยาแผนไทยจากแหล่งสำคัญ ๔ แหล่งได้แก่ ตำรับยาจากตำรายาแผนไทยชาติ ตำรับยาเกร็ดที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยยังนิยมใช้ปรุงยาให้แก่ผู้ป่วย ตำรับยาจากบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตำรับยาจากแหล่งเหล่านี้ได้ผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกบนพื้นฐานองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย โดย คณะทำงานกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ๓ ชุด และ คณะอนุกรรมการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ อันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย คณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับ ยาแผนไทยแห่งชาติ และ คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ ได้ผ่านการ
ทำประชาพิจารณ์เพื่อให้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ นำไปใช้เป็นรายการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศ การประกอบวิชาชีพและการเรียนการสอนด้านการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย รวมทั้งการผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรมและในสถานบริการสุขภาพ
รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ประกอบด้วยตำรับยา 324 ตำรับ สำหรับกลุ่มโรค/อาการ 15 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคเด็ก กลุ่มโรคสตรี กลุ่มโรคลม กลุ่มยาบำรุง อายุวัฒนะ กลุ่มโรคกระษัย กล่อน กลุ่มโรคผิวหนัง แผล โรคเรื้อน กลุ่มโรคฝี กลุ่มโรคในปาก ในคอ กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ กามโรค กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง กลุ่มโรคริดสีดวง กลุ่มโรคหอบ ไอ หอบหืด กลุ่มโรคท้องมาน กลุ่มไข้ และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งตำรับยาที่กลั่นกรอง หรือคัดเลือกมานั้นยังไม่ใช่รายการยาทั้งหมดสำหรับแต่ละกลุ่มโรค/อาการเหล่านี้ คณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องยังจะต้องพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมรายการตำรับยาสำหรับกลุ่มโรค/อาการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป
ข้อมูลตำรับยาแผนไทยในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติเล่มนี้ ได้นำมาเรียบเรียงไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า “มอโนกราฟ” (monograph) โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่แพทย์แผนไทยและนักศึกษาแพทย์
แผนไทยที่สนใจเกี่ยวกับที่มาของตำรับยา สูตรตำรับ การปรุงยา สรรพคุณ ขนาดและวิธีการใช้ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ปรุงยา สั่งยา หรือจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิผล มิใช่รายละเอียดของยาที่ระบุวิธีการตรวจวิเคราะห์หรือการควบคุมคุณภาพของตำรับยาในลักษณะของตำรามาตรฐานยาแผนไทย (Thai Traditional Preparation Pharmacopoeia)
คำอธิบายความหมายของมอโนกราฟของตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
โครงสร้างของมอโนกราฟของตำรับยาแผนไทยแต่ละตำรับประกอบด้วย ชื่อตำรับยา ชื่ออื่น (ถ้ามี)
ที่มาของตำรับยา สูตรตำรับยา สรรพคุณ รูปแบบยา วิธีปรุงยา (ถ้ามี) ขนาดและวิธีการใช้ รวมทั้ง คำเตือน ข้อห้ามใช้
ข้อควรระวัง ข้อมูลเพิ่มเติม (ถ้ามี) และเอกสารอ้างอิง แต่ละหัวข้อมีรายละเอียดและความหมาย ดังนี้
ชื่อตำรับยา (Name of medicinal preparation)
เป็นชื่อภาษาไทยของตำรับยาที่ระบุไว้ใน “ตำรายาแผนไทยแห่งชาติ” “บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ” หรือ “ประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ” กรณีมีการสะกดชื่อยาหลายแบบหรือมีชื่อยาหลายชื่อ จะเลือกชื่อที่นิยมใช้มากที่สุด หรือใช้คำที่นิยมเขียนหรือสะกดกันในปัจจุบันเป็นชื่อตำรับยา เช่น ยามหาสดมภ์ ส่วนชื่อที่สะกดแบบอื่นจะเก็บไว้ในหัวข้อ “ชื่ออื่น” ในกรณีที่ในคัมภีร์ไม่ระบุชื่อตำรับยา ได้ใช้วิธีนำชื่อโรคหรืออาการที่ตำรับยานั้นใช้แก้มาตั้งเป็นชื่อตำรับยา เช่น ยาแก้ตานซางและตานขโมย ยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ แก้อาเจียน แก้สะอึก
ชื่ออื่น (Other name)
ยาบางตำรับ นอกเหนือจากชื่อที่ใช้เป็นชื่อตำรับยาแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกหลายชื่อ หรือมีวิธีการสะกดชื่อยาหลายแบบ ชื่อเหล่านั้น จะระบุไว้ในชื่ออื่น
ที่มาของตำรับยา (Source of origin)
เป็นชื่อคัมภีร์หรือตำราดั้งเดิมที่เป็นต้นกำเนิดหรือแหล่งที่มาของตำรับยานั้น พร้อมทั้งเลขหน้าหรือเลขที่แผ่นศิลาจารึกเพื่อการอ้างอิง และระบุข้อความเดิมเกี่ยวกับสูตรตำรับยานั้นไว้ด้วยอักษรตัวเอนในเครื่องหมายอัญประกาศ ในบางกรณียาตำรับหนึ่งอาจมีการระบุไว้ในตำรายามากกว่า ๑ เล่ม เช่น ยาแก้ตานทราง ที่อยู่ในเวชศาสตร์ ฉบับหลวงรัชกาลที่ ๕ กับยาแก้ทรางฝ้าย ที่อยู่ในแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. ๑๒๘ เป็นยาที่มีสูตรตำรับเหมือนกัน จึงระบุที่มาจากทั้ง ๒ แหล่ง
สำหรับตำรับยาที่มาจาก “บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ” เนื่องจากบางตำรับได้มีการใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณมาก่อนเป็นเวลานานหลายสิบปีและปรับปรุงสูตรตำรับไปบ้าง ดังนั้น สูตรตำรับ จึงอาจไม่ตรงกับตำรับยาในคัมภีร์หรือตำรายาดั้งเดิม เช่น น้ำหนักของตัวยาบางตัวอาจต่างไป ตัวยาบางตัวอาจหายไป หรือมีการเพิ่มตัวยาบางตัวขึ้นมา แต่ยังคงมีเค้าโครงของตำรับยาที่ใกล้เคียงกับตำรับยาที่อยู่ในคัมภีร์หรือตำรายาดั้งเดิม ในกรณีเช่นนี้ ได้นำตำรับยาจากคัมภีร์หรือตำรายาดั้งเดิมที่ใกล้เคียงกันนั้นมาอ้างอิงไว้ในหัวข้อ “ที่มา” เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ สำหรับข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับประวัติการคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณและบัญชียาหลักแห่งชาติได้นำไปกล่าวไว้ในหัวข้อ “ข้อมูลเพิ่มเติม”
ส่วนตำรับยาที่มาจากเภสัชตำรับโรงพยาบาลที่อยู่ในบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติได้พยายามสืบค้นถึงที่มาให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ว่าโรงพยาบาลใดพัฒนายาตำรับนี้เป็นแห่งแรกสำหรับใช้เป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาลจากสมุนไพร หรือผู้ใดเป็นผู้พัฒนาตำรับยานั้น ตำรับยาบางตำรับหมอพื้นบ้านเป็นผู้พัฒนาสูตรตำรับขึ้นใช้รักษาผู้ป่วยในชุมชนอย่างได้ผลดีมาก่อน หากผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียงยอมรับในประสิทธิผลและความปลอดภัย และหมอพื้นบ้านเจ้าของตำรับยาอนุญาต โรงพยาบาลก็สามารถนำตำรับยานั้นมาเป็นรายการยาในเภสัชตำรับโรงพยาบาล เพื่อผลิตและใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป คณะทำงานกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยแห่งชาติจึงได้เสนอตำรับยาเหล่านี้ให้คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาคัดเลือกเข้าในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
สูตรตำรับยา (Medicinal preparation formula)
เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรและส่วนประกอบของตำรับยานั้น โดยระบุว่ามีตัวยา (ไม่ว่าจะเป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ หรือธาตุวัตถุ) รวมทั้งหมดกี่ชนิด ปริมาณรวมของตัวยาทั้งหมดกี่กรัม หรือทั้งหมดกี่ส่วนในกรณีที่สูตรตำรับระบุตัวยาเป็นส่วน จากนั้นจึงระบุรายละเอียดของตัวยาแต่ละชนิดและน้ำหนักยา โดย
- ตัวยา (Medicinal material, materia medica) คือ ชื่อเครื่องยาที่นำมาใช้ปรุงยาไม่ใช่ชื่อพืชสมุนไพรซึ่งเป็นที่มาของเครื่องยา สำหรับข้อมูลตัวยาหรือเครื่องยาแต่ละชนิดว่ามีที่มาจากพืชสมุนไพรหรือสัตว์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างไร หรือมีชื่อเครื่องยาเป็นภาษาละตินซึ่งเป็นชื่อสากลอย่างไร รวมทั้งส่วนที่ใช้ของพืชและสัตว์แต่ละชนิด ได้รวบรวมไว้ใน “ภาคผนวก ๑ เภสัชวัตถุ” หากมีการวงเล็บส่วนที่ใช้กำกับไว้ท้ายตัวยา หมายถึง เป็นส่วนที่ใช้อื่นที่แตกต่างจากตัวยาที่แพทย์แผนไทยนิยมใช้กันโดยทั่วไป
- ปริมาณ (Amount) ส่วนมากแสดงน้ำหนักเป็นกรัมหรือเป็นส่วน มีบ้างที่กำหนดน้ำหนักหรือปริมาณเป็นหน่วยวัดอื่น เช่น กลีบ กำมือ ดอก ผล แว่น หัว องคุลี หรือแสดงปริมาณตัวยาเป็นหน่วยน้ำหนักแบบไทย (ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ) ซึ่งได้แปลงหน่วยน้ำหนักแบบไทยในตำรายาให้เป็นกรัม โดยเทียบน้ำหนัก
สรรพคุณ (Therapeutic use)
คุณสมบัติในการแก้หรือบำบัดรักษาโรคหรืออาการของตำรับยานั้นตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยหรือจากรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่สนับสนุนข้อบ่งใช้ เช่น สรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของยาประสะไพล หรือสรรพคุณขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อของยาธาตุอบเชย สำหรับความหมายของสรรพคุณที่เป็นศัพท์การแพทย์แผนไทยนั้น ได้ให้คำอธิบายศัพท์ไว้ใน “ภาคผนวก ๔ อภิธานศัพท์”
รูปแบบยา (Dosage form)
ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ยาตำรับนั้น ๆ เช่น เป็นยาต้ม ยาผง ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาเม็ดพิมพ์ ยาแคปซูล ยาน้ำมัน ยาประคบ บางตำรับยามีรูปแบบยาได้มากกว่า ๑ รูปแบบ เช่น ยาผง ยาเม็ด ยาแคปซูลสำหรับยาเม็ด ยาเม็ดพิมพ์ หรือยาลูกกลอน บางตำรับจะระบุขนาดน้ำหนักต่อเม็ดไว้ด้วย
วิธีปรุงยา (Compounding method)
ในมอโนกราฟของยาบางตำรับอาจมีวิธีการเตรียมเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากที่ระบุไว้ในภาคผนวก 3 ก็จะอธิบายวิธีเตรียมไว้ในหัวข้อนี้
ขนาดและวิธีใช้ (Dosage and administration)
ตำรับยาที่คัดเลือกจาก “บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักชาติ” หรือจาก “ประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ” ได้ระบุขนาดและวิธีใช้ไว้แล้วโดยละเอียดทุกตำรับ โดยระบุขนาดใช้ของยาเป็นระบบเมตริก คือ เป็นกรัม หรือมิลลิกรัม และยาน้ำกำหนดปริมาตรเป็นมิลลิลิตร
ส่วนตำรับยาแผนไทยที่มาจากคัมภีร์และตำรายาแผนไทยของชาติต่าง ๆ มักไม่ได้ระบุขนาดและวิธีใช้ไว้ การกำหนดขนาดและวิธีใช้ของตำรับยากลุ่มนี้เป็นเนื้อหาส่วนที่ยากที่สุดในการจัดทำรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ จึงต้องอาศัยประสบการณ์การเตรียมยาและการสั่งใช้ยาของคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญ ในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดขนาดและวิธีใช้ที่เหมาะสม โดยใช้วิธีระบุขนาดของยาเม็ด ยาเม็ดพิมพ์ หรือยาลูกกลอนเป็นมิลลิกรัมต่อเม็ด แล้วระบุขนาดใช้เป็นจำนวนเม็ดสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก โดยขนาดยาของเด็กจะลดลงเป็นสัดส่วนกับอายุของเด็ก ถ้าเป็นยาน้ำจะระบุเป็นจำนวนช้อนชาหรือจำนวนช้อนโต๊ะ โดยวงเล็บปริมาตรเป็นซีซีหรือมิลลิลิตรไว้ให้ด้วยเพื่อความสะดวกหากใช้ถ้วยตวงยา โดยคิดคำนวณว่า ๑ ช้อนชา เท่ากับ ๕ ซีซี (มิลลิลิตร) และ ๑ ช้อนโต๊ะ เท่ากับ ๑๕ ซีซี
ข้อห้ามใช้ (Contraindication)
ข้อมูลที่อธิบายว่าตำรับยานี้ห้ามใช้ในคนกลุ่มใด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น ยาประสะไพล ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
คำเตือน (Warning)
ข้อความที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยควรทราบก่อนการใช้หรือการสั่งใช้ยา
ตำรับนั้น หรือควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยกลุ่มใด เช่น ยาเขียวหอม ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็น
ไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังอธิบายเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ (adverse
drug reaction) ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ตำรับยานั้น (ถ้ามี) รวมทั้งผลเสียต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์
ระหว่างตำรับยานั้นกับยาแผนปัจจุบันบางชนิดหากมีการใช้ร่วมกัน (herb-drug interaction) เช่น ยาบางตำรับ
ควรระวังการกินร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
(antiplatelet) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออก (bleeding)
ข้อควรระวัง (Precaution)
ข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้ยาตำรับ ที่ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยควรทราบ เช่น ตำรับยาที่มีการบูรเป็นส่วนประกอบ จะมีข้อควรระวังว่า “ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้”
ข้อมูลเพิ่มเติม (Additional information)
ข้อมูลเกี่ยวกับตำรับยาที่ควรทราบ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของตำรับยา หรือการตัดตัวยาบางตัวออกจากสูตรตำรับดั้งเดิมพร้อมทั้งเหตุผล หรือเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหรืออาการที่ใช้ตำรับยานั้นในการบำบัดรักษาคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมยา การใช้ยา กระสายยา ข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้อาการเลวลง เช่น งดของแสลง ของเย็น ของเผ็ดร้อน ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณที่ทำให้เกิดพิษจากการกินการบูรหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมเอกสารอ้างอิง (Reference)
การเขียนเอกสารอ้างอิงทั้งภาษาไทยและอังกฤษใช้หลักของแวนคูเวอร์ (Vancouver style) แต่การใช้เครื่องหมายวรรคตอนของเอกสารอ้างอิงภาษาไทยใช้ตาม “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๗ (แก้ไขเพิ่มเติม)” อย่างไรก็ตาม ตัวยา สรรพคุณของตำรับยา ขนาดและวิธีใช้ที่ระบุในแต่ละตำรับยานั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวยา สรรพคุณของตำรับยา ขนาดและวิธีใช้ที่ยอมรับในการขึ้นทะเบียนตำรับ แจ้งรายละเอียดหรือจดแจ้งการอ้างอิงตัวยา สรรพคุณของตำรับยา ขนาดและวิธีใช้เพื่อการขอขึ้นทะเบียนตำรับ แจ้งรายละเอียดหรือจดแจ้งนั้น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งกฎกระทรวง และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ภาคผนวกของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
ตอนท้ายของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีภาคผนวกอยู่ 4 ภาคผนวก เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับตัวยาต่าง ๆ ที่ใช้ในตำรับยาทั้ง 324 ตำรับ ได้แก่ เภสัชวัตถุ การเตรียมตัวยาก่อนใช้ปรุงยา วิธีการปรุงยา อภิธานศัพท์ด้านการแพทย์แผนไทยที่เกี่ยวข้องกับโรคและอาการต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีรายละเอียดพอสังเขป ดังต่อไปนี้
ภาคผนวก ๑ เภสัชวัตถุ (Medicinal material, Materia Medica)
เป็นภาคผนวกที่รวมตัวยาหรือเภสัชวัตถุ ทั้งพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาทั้ง 324 ตำรับ ในรูปของตาราง โดยแต่ละช่องจะให้ข้อมูลดังนี้
● ชื่อตัวยา (Thai title) หมายถึง ชื่อตัวยาที่ระบุในสูตรตำรับยา โดยเป็นชื่อที่เรียกหรือรู้จักเป็นสากลในปัจจุบัน ซึ่งอาจแตกต่างจากชื่อที่ใช้เรียกหรือเขียนในเอกสารต้นฉบับเดิม โดยเรียงชื่อตัวยาตามลำดับอักษรภาษาไทย ก-ฮ ในแบบพจนานุกรม
ส่วนที่ใช้ (Part used) หมายถึง ส่วนของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นตัวยา เช่น เหง้า ราก ใบ ดอก เกสร ผล เมล็ด ฯลฯ ทั้งนี้ ส่วนที่ใช้จะยึดตามหลักทางพฤกษศาสตร์ ไม่ใช่ชื่อที่เรียกเครื่องยาตามตำรายาไทย เช่น ดีปลี ส่วนที่ใช้ คือ ช่อผล ไม่ใช่ดอก แม้ว่าในตำราการแพทย์แผนไทยมักเรียกช่อผลที่มีสีแดงว่า ดอกดีปลี
สำหรับตัวยาใดที่มีส่วนที่ใช้มากกว่า ๑ ส่วน และมีเครื่องหมายดอกจันทน์ “*” กำกับไว้ หมายความว่า เป็นส่วนที่ใช้ของตัวยาที่แพทย์แผนไทยนิยมใช้กันโดยทั่วไป
● ชื่อละติน (Latin title) เป็นชื่อตัวยาในภาษาละตินที่กำหนดให้มีไว้เพื่อความเป็นสากล เนื่องจากตำรายา (Pharmacopoeia) หรือรายการตำรับยาแห่งชาติ (National Formulary) ของหลายประเทศและขององค์การอนามัยโลกก็ใช้ชื่อละตินเป็นชื่อทางการของตัวยาต่าง ๆ ในที่นี้เพื่อความสะดวกในการสืบค้นชื่อ จึงได้นำส่วนที่ใช้เป็นยา เป็นคำลงท้ายชื่อ แทนที่จะใช้เป็นคำนำหน้า เช่นเดียวกับในตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศัพท์ภาษาละตินสำหรับส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพร ได้แก่ Bulbus (หัวอย่างหัวหอม), Caulis (เถา), Cormus (หัวอย่างหัวเผือก), Cortex (เปลือกต้น), Exocarpium (เปลือกผลชั้นนอกหรือ ผิวผล), Flos (ดอก), Folium (ใบ), Fructus (ผลหรือฝัก), Galla (ปุ่มหูด), Herba (ทั้งต้น),
Lignum (แก่น), Mesocarpium (ผนังผลชั้นกลาง), Pedunculatum (ก้านช่อผล), Pericarpium (เปลือกผล), Pulpa (เนื้อในผลหรือฝัก), Radix (ราก), Rhizoma (เหง้า), Semen (เมล็ด), Stamen (เกสรเพศผู้) และ Stigma (ยอดเกสรเพศเมีย)
ศัพท์ภาษาละตินสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสมุนไพร ได้แก่ Aetheroleum (น้ำมันระเหยง่าย), Extractum (สิ่งสกัดจากสมุนไพร), Latex (ยาง), Oleum (น้ำมัน) และ Resina (ชัน) ทั้งนี้ ชื่อละติน จะใช้ตามชื่อที่ปรากฏในตำรายาของต่างประเทศหากเป็นตัวยาสมุนไพรเดียวกัน หรือใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรที่เป็นต้นกำเนิดของตัวยามาแปลงเป็นภาษาละติน ในกรณีที่ตัวยามาจากสมุนไพรได้หลายชนิด จะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรหลักที่นิยมใช้มาแปลงเป็นชื่อละตินเพียง ๑ ชื่อเท่านั้น
● ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรที่เป็นต้นกำเนิดของตัวยาประกอบด้วย ชื่อสกุล (genus) เขียนด้วยตัวเอน ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ ตามด้วยชื่อระบุชนิด (specific epithet) ซึ่งเขียนด้วยตัวเอนเช่นกัน ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็ก และชื่อผู้ตั้งชื่อ (author’s name) ที่เขียนด้วยตัวอักษรปรกติ ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ ทั้งนี้อาจใช้ชื่อย่อตามที่กำหนดในหนังสือ Authors of Plant Names* ฐานข้อมูล The Plantlist** และฐานข้อมูล Plants of the World Online*** หากพืชสมุนไพรชนิดใดสามารถระบุพันธุ์ (variety) หรือพันธุ์ปลูก (cultivar) ได้ ก็จะระบุไว้หลังชื่อ โดยใช้ตัวย่อ var. หรือ cv. ตามลำดับ แล้วตามด้วยชื่อพันธุ์หรือชื่อพันธุ์ปลูก
ภาคผนวก ๒ การเตรียมตัวยาก่อนใช้ปรุงยา (Prepreparation of crude drug)
เนื่องจากตัวยาบางชนิดมีฤทธิ์แรงเกินไปหรือมีพิษมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หรือตัวยาบางชนิด
อาจไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือมีความชื้นมากเกินไป ตัวยาเหล่านี้จึงต้องผ่านกระบวนการประสะ สะตุ หรือ ฆ่าฤทธิ์ ก่อนนำมาใช้ปรุงยา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ภาคผนวกนี้จึงนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประสะ สะตุหรือฆ่าฤทธิ์ของตัวยาบางชนิดก่อนนำไปใช้
ภาคผนวก ๓ วิธีการปรุงยา (Compounding of traditional medicinal preparation) รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีรูปแบบของยาเตรียมที่สำคัญ 14 วิธี ได้แก่ ยาต้ม ยาน้ำมัน ยาดอง ยาฝน ยาทา ยาผง ยาแคปซูล ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาพอก ยาประคบ ยาชง ยาสด และยาขี้ผึ้ง ซึ่งภาคผนวกนี้ได้อธิบายกระบวนการผลิตยาแต่ละรูปแบบโดยละเอียด รวมทั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการผลิตยา ขั้นตอนการผลิต รวมทั้งการควบคุมคุณภาพระหว่างการผลิต
ภาคผนวก ๔ อภิธานศัพท์ (Glossary)
ภาคผนวกนี้เป็นบัญชีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย โรคหรืออาการทางการแพทย์แผนไทย รวมทั้งศัพท์ทางเภสัชกรรมไทยที่กล่าวถึงในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาตินี้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติม และทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เป็นภาษาไทยดั้งเดิมที่ใช้ในคัมภีร์หรือตำราแพทย์แผนไทยของชาติด้วยการให้ความหมายเป็นภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ ส่วนใหญ่นำมาจาก “พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่วนคำศัพท์ที่ยังไม่มีในพจนานุกรมดังกล่าว คณะทำงานฯ และคณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ เพื่อจัดทำความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นขึ้น