คลินิกแพทย์ทางเลือก(ฝังเข็ม) Acupuncture
การฝังเข็ม(Acupuncture)
การฝังเข็มเป็นเวชกรรมที่มีประวัติการค้นคว้า และแพร่หลายมาหลายพันปี การฝังเข็ม คือวิธีการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยการใช้เข็มปักเข้าไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกายในตำแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ
โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษา คือ
1.เพื่อปรับสมดุลของร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้น ช่วยให้อวัยวะและระบบการทำงานต่างๆของร่างกายกลับทำงานได้ตามปกติ ด้วยพลังธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต จึงนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี
2.การฝังเข็มสามารถช่วย “ระงับความเจ็บปวด” จึงมักนำไปใช้ในการรักษาโรคปวดต่างๆหรือใช้ในการผ่าตัด ปัจจุบันมีการนำการฝังเข็มไปใช้ในการป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีวิทยาการอื่นๆอีกที่เกี่ยวกับศาสตร์การฝังเข็ม และมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางได้แก่ การนวดกดจุด การรมยา การใช้เครื่องกระตุ้นเป็นต้น
วิธีการฝังเข็ม
ภายหลังแพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการโรคเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะใช้เข็มที่ทำด้วย สแตนเลสไม่เป็นสนิมที่มีขนาดเล็กความยาวประมาณ 1- 10 เซนติเมตร ความยาวของเข็มจะขึ้นอยู่กับ ความหนา-บางของบริเวณที่จะลงเข็ม เข็มที่ใช้เป็นเข็มที่สะอาด ปลอดเชื้อ ทำความสะอาดผิวหนังด้วยยาฆ่าเชื้อโรค แล้วปักเข็มทะลุผิวหนังตรงจุดฝังเข็มตามแนวเส้นลมปราณที่ตรงกับอาการของโรคให้ความลึกขนาดต่างๆกันผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย เมื่อเข็มผ่านผิวหนัง และจะหายเจ็บเมื่อถึงชั้นใต้ผิวหนังแล้ว เมื่อปลายเข็มเข้าไปอยู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อๆ หรือหนักๆบริเวณโดยรอบจุดฝังเข็มนั้นๆซึ่งเรียกว่า เต๋อชี่(De Chi) หลังจากนั้นแพทย์ใช้มือปั่นเข็มหรือกระแสไฟฟ้าศักย์ต่ำๆต่อเข้ากับปลายด้ามจับเข็ม การรักษาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะอยู่ในท่าที่สบายที่สุด ดังนั้นการรักษาโดยวิธีฝังเข็มจึงช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย นับเป็นการช่วยทางด้านจิตใจทางหนึ่ง การรักษาควรทำซ้ำหลายครั้ง จำนวนครั้งของการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โรคที่เป็ยอย่างเฉียบพลันอาการจะดีขึ้นภายในหลังการรักษา1-3ครั้ง ในรายที่มีอาการเรื้อรังต้องทำการรักษาประมาณ10-20ครั้ง จึงเห็นผล การรักษาจะกระทำทุกวัน หรือ 2-3ครั้งต่อสัปดาห์
โรคหรือกลุ่มอาการที่การฝังเข็มให้การรักษาได้ดี
1.ปวดศีรษะ
2.โรคภูมิแพ้
3.ปวดท้อง
4.ภาวะซึมเศร้า
5.ปวดประจำเดือน ชนิดปฐมภูมิ
6.อัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดในสมอง
7.อาการปวดบริเวณใบหน้า
8.ปวดข้อศอกจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
9.ความดันโลหิตสูงชั่วคราว
10.ความดันโลหิตต่ำชั่วคราว
11.ปวดเข่า
12.ปวดหลัง
13.ปวดบวมจากอุบัติเหตุ
14.ปวดคอ
15.ปวดไหล่ ไหล่ติด
16.ปวดหลังการผ่าตัด
17.ปวดจากข้ออักเสบรูมาตอยด์
18.ปวดบริเวณสะโพกร้าวลงขา
19.ปรับสมดุลร่างกาย
เป็นต้น
การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนและหลังรับการรักษาด้วยการฝังเข็ม
การเตรียมตัวก่อนการรักษา
1.นอนหลับให้เต็มที่ในคืนก่อนมารับการฝังเข็ม
2.ควรรับประทานอาหารก่อนมารับการรักษา แต่อย่าให้อิ่มเกินไป
3.สวมเสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ เพื่อสะดวกในการฝังเข็ม
ระหว่างการปักเข็มผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกได้ 2 แบบดังนี้
1.รู้สึกหนักๆหน่วงๆตื้อๆในจุดฝังเข็มในระหว่างที่เข็มปักคาอยู่
2.มีความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าแล่นแปลบๆ ไปตามเส้นลมปราณ เนื่องจากแพทย์จะปักเข็มไว้ข้างๆเส้นประสาทบางเส้น เพื่อผลการรักษาที่ดีแพทย์จะปักเข็มไว้ประมาณ20-30 นาที โดยอาจกระตุ้นด้วยมือหรือกระแสไฟฟ้า (ไฟฟ้าที่ใช้มีต่างศักย์ต่ำ จึงไม่มีโอกาสเกิดไฟช็อตจนเกิดอันตราย) จากนั้นจะถอนเข็มออกในระหว่างการคาเข็มผู้ป่วยต้องพยายามอย่าขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็มเพราะเข็มจะบิดในกล้ามเนื้อ แม้ไม่เกิดอันตรายแต่อาจทำให้เจ็บมากขึ้นและมีเลือดออกตอนถอนเข็ม ผู้ป่วยสามารถขยับตัวได้บ้างเล็กน้อย พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะสบายที่สุด แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่นรู้สึกหวิวๆ หน้ามืดจะเป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ให้แจ้งแพทย์ที่รักษาทราบทันที
การดูแลตนเองหลังจากการฝังเข็ม
1. ควรดื่มน้ำอุ่นหลังการฝังเข็ม
2.สำรวจร่างกายตนเองบริเวณฝังเข็มถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออก มีรอยบวม รู้สึกเจ็บปวด ต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบทันทีเพื่อแก้ไขให้เป็นปกติก่อนกลับบ้าน
3.งดการอาบน้ำเป็นเวลา2ชั่วโมงหลังการฝังเข็ม
4.ผักผ่อนให้เต็มที่อีก1วัน
5.ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ตามปกติ อาการจะหายไปเองภายใน24-48ชั่วโมง โดยไม่มีอันตรายใดๆ
ข้อควรระวังในการฝังเข็ม
1.ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ต้องให้การรักษาอย่างระมัดระวัง
2.ผู้ป่วยโรคมะเร็ง(ที่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน)
3.ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด
4.ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
5.โรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่นอน
ติดต่อสอบถามบริการได้ที่ 038-343-568 แผนกบริการผู้ป่วยนอก เปิดให้บริการ ทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30 - 16.00 น.