ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

บอร์ด Medical Hub เคาะร่างยุทธศาสตร์เมดิคัล ฮับไทย 10 ปี เตรียมเสนอ ครม.

บอร์ด Medical Hub เคาะร่างยุทธศาสตร์เมดิคัล ฮับไทย 10 ปี เตรียมเสนอ ครม. Thumb HealthServ.net
บอร์ด Medical Hub เคาะร่างยุทธศาสตร์เมดิคัล ฮับไทย 10 ปี เตรียมเสนอ ครม. ThumbMobile HealthServ.net

ผลการประชุมบอร์ดพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ 10 ปี เห็นชอบ 6 คณะอนุกรรมการ 2 คณะทำงานช่วยขับเคลื่อน มอบหมายทำมาตรการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร กิจการ "นวดไทย-สปา" ศึกษาการขับเคลื่อนเวชกรรมความงามไทย ไฟเขียวเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ ประสานเจรจาดึง 6 ชาติกลุ่มอ่าวอาหรับ กลุ่ม CLMV และจีน เข้ารักษาในไทย

 
         18 กรกฎาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว คณะผู้บริหาร และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 


          นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการฯ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2568 - 2577) มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก และมีการขยายตัวมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ

         1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

         2. พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์ ครบวงจร และ

         3. ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป


 
 
          นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบประเด็นต่างๆ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป ได้แก่

          การแก้ไขกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้มีหน่วยงานตามโครงสร้างในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

          การจัดทำข้อเสนอปรับปรุงแผนการจัดสรรงบประมาณรองรับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

          การเจรจากองทุนแห่งรัฐและประกันชีวิตเอกชนในต่างประเทศเพื่อส่งผู้ป่วยมารับการรักษาในประเทศไทย ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC)   6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน กลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงจีน

          การจัดทำมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในกิจการนวดไทยและสปา และการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 1,676.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3%) และมีอัตราการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย 4.3%
 

 

ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลายโครงการ

 
          นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในหลายโครงการ ได้แก่

          การพัฒนา พื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีมูลค่าสูง (Medical & Wellness Valley) ของประเทศไทย เพื่อรองรับนักลงทุนชาวต่างชาติ

          การจัดทำแนวทางขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ และ

          การศึกษาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเวชกรรรมความงามของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าในปี 2570 ตลาดเสริมความงามของไทยจะมีมูลค่าถึง 7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.48 แสนล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 16.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า ด้วยจุดเด่น คือ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับและรู้จัก   ในวงกว้าง มีเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการบริการที่หลากหลายและอัตราค่าบริการสมเหตุสมผล


 

จัดทำเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ

          นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการจัดทำเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ (Thailand Wellness Awards : TiWA) เพื่อยกระดับสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้เป็น Branding เดียวทั้งประเทศ รวมถึงเห็นชอบคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนานาชาติ 6 คณะ ได้แก่ บริการรักษาพยาบาล, บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, บริการวิชาการ, การจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ และอำนวยความสะดวก ในการประกอบธุรกิจบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานส่งเสริมเวชกรรมความงามและชะลอวัยของประเทศไทย และคณะทำงานเกณฑ์รางวัลคุณภาพเวลเนสระดับชาติ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด