ปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ชีวิตต้องเร่งรีบทำให้เกิดความเครียดมาก ขาดการออกกำลังกายและนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรามีอาการปวดศีรษะได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามอาการปวดศีรษะบางโรคไม่ได้เกิดจากปัจจัยดังกล่าว แต่เป็นกลุ่มโรคปวดศีรษะที่ร้ายแรงซึ่งทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ถ้าไม่รีบรักษา
โดยทั่วไปเรามักแบ่งโรคปวดศีรษะออกเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือ คอ (Primary Headache)
- กลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือ คอ (Secondary Headache)
1. กลุ่มที่ไม่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือ คอ (Primary Headache)
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ร้ายแรงมักปวดเป็นๆ หายๆ ช่วงหายจะหายสนิท ได้แก่ ไมเกรน , ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension – type Headache ), ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache) เป็นต้น
1.1 ไมเกรน (Migraine) เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยในคนอายุน้อยถึงวัยกลางคน มักปวดศีรษะขมับข้างใดข้างหนึ่ง ร้าวไปกระบอกตา หรือท้ายทอยได้ ปวดลักษณะตุบๆตามจังหวะชีพจรและมักปวดมากขึ้นหลังทำกิจวัตรประจำวัน มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยได้ ไม่ชอบแสงจ้าหรือเสียงดัง ระยะเวลาที่ปวดแต่ละครั้งประมาณ 4 ชั่วโมง ถึง 3 วัน
สาเหตุ เชื่อว่ามีการขยายตัวของหลอดเลือดที่อยู่ชิดกับเยื่อหุ้มสมอง หลังจากที่ได้รับการกระตุ้น ซึ่งได้แก่
- ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในผู้หญิง เช่น ช่วงใกล้ประจำเดือน
- อาหาร เช่น กาแฟ ช็อคโกแลต ชีส แอลกอฮอล์
- การไม่สบายของร่างกายและจิตใจ เช่น นอนไม่พอ ทานอาหารไม่ตรงเวลาสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน
1.2 ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension-type Headache) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดมักปวดมึนศีรษะเหมือนมีอะไรมารัดรอบศีรษะ บางคนร้าวลงต้น คอ บ่า สะบัก
สาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและความเครียด
1.3 ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache) พบได้บ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปี มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ ปวดศีรษะข้างเดียวบริเวณรอบ หรือ หลังเบ้าตาร้าวไปขมับเหมือนมีอะไรแหลมๆแทงเข้าตา ปวดมากจนรู้สึกกระสับกระส่าย ระยะเวลา 15 นาที – 3 ชั่วโมง ใน 1 วัน เป็นได้หลายครั้งและมักปวดเป็นเวลาเดิมของทุกวันติดต่อกันเป็นสัปดาห์ถึงเดือน พอหายปีนี้ ปีหน้าก็อาจปวดในช่วงเดือนใกล้เคียง มีอาการร่วมทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ลืมตาลำบาก ตาบวม ตาแดง น้ำตาหรือน้ำมูกไหล ม่านตาหดเล็กลง ซึ่งเป็นข้างเดียวกับที่ปวด
สาเหตุ เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ควบคุมเวลาของร่างกายที่ชื่อ Hypothalamus ทำงานผิดปกติ ทำให้เส้นประสาทสมองที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกของใบหน้าพร้อมทั้งระบบประสาทอัตโนมัติและหลอดเลือดข้างคียงเกิดการเปลี่ยนแปลง
2. กลุ่มที่มีรอยโรคในสมอง ศีรษะ หรือ คอ (Secondary Headache)
เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดสมองโป่งพอง หลอดเลือดอักเสบ เลือดออกในสมอง กระดูกคอเสื่อม ต้อหิน โพรงไซนัสอักเสบ เป็นต้น
วิธีการสังเกตว่าปวดศีรษะจากกลุ่มนี้ ได้แก่
- ปวดทันทีและรุนแรงมาก
- ปวดมากแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อนเลยในชีวิต
- ปวดจนต้องตื่นนอนตอนกลางคืน
- ปวดมากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีช่วงหายปกติ
- ปวดรูปแบบใหม่ซึ่งไม่เหมือนกับที่เคยปวดมาเป็นประจำ
- มีอาการต้นคอแข็ง อาเจียนมาก มีไข้
- มีอาการอ่อนแรง มองเห็นภาพซ้อน ตามัว พูดไม่ชัด สับสนหรือจำอะไรไม่ได้
- ปวดเมื่อไอ จาม หรือ เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระ
- ปวดครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี
- ปวดสัมพันธ์กับท่าทาง
- มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี
หากมีอาการดังกล่าว ที่ชวนสงสัยโรคที่น่าจะมีรอยโรคในสมองควรรีบพบแพทย์ แพทย์จะใช้วิธีการถามอาการอย่างละเอียดและตรวจร่างกาย ทางระบบประสาท หากสงสัยว่าจะมีรอยโรค จะตรวจยืนยันด้วยภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Brain) หรือภาพแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Brain) หรือตรวจภาพหลอดเลือดสมอง (MRA) หรือว่าสงสัยเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็ต้องเจาะหลังตรวจน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง อย่างละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคในกลุ่มที่ไม่มีรอยโรคก็ตาม ก็ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาการใช้ยาที่ถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากยา
ข้อมูลโดย : นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ประสาทวิทยา
ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิภาวดี