ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ทำงานเป็นกะอย่างไร ให้มีความสุข

ทำงานเป็นกะอย่างไร ให้มีความสุข HealthServ.net

ทำงานเป็นกะอย่างไร? ให้มีความสุข วิทยากร นพ.ณัฐพล ประจวบพันธ์ศรี แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

ทำงานเป็นกะอย่างไร ให้มีความสุข ThumbMobile HealthServ.net
 

DJ: แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์เป็นแพทย์ด้านไหนคะ?

นพ.ณัฐพล: แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีคนที่จบสาขานี้มากนัก แพทย์ทางด้านนี้จะดูแล ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบอาชีพทั้งหลาย
 

DJ: ถ้าจะดูแลที่ผู้ประกอบอาชีพในวัยนี้ให้มีสุขภาพดี ได้หรือไม่ที่  จะได้ไม่เกิดโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงตามมา?

นพ.ณัฐพล: ควรทำที่สุด เพราะจริงๆ แล้วหัวใจของการดูแลสุขภาพ คือการป้องกันโรคนั่นเอง
 

DJ: คนที่ทำงานเป็นกะ จะมีวงจรชีวิตที่แตกต่างกับคนอื่นๆหรือไม่?

นพ.ณัฐพล: นิยามคำว่า “ทำงานกะ” คือการทำงานเวลาไหนก็ตาม นอกจากเวลาเช้าตามปกติ  ไม่ว่าเวลาใด ก็คือการทำงานเป็นกะได้ทั้งนั้น  ถ้าดูจากนิยามคำนี้แล้วจะแบ่งการทำงานเป็นกะออกเป็น  3  ส่วน คือ ส่วนแรก คือ ผู้ทำงานในช่วงกะบ่าย  เช่น อาจจะเข้าทำงานช่วง 4-5 โมงเย็น แล้วเลิกงานเที่ยงคืน ส่วนที่สอง ผู้ทำงานในช่วงกะดึก แล้วเลิกงาน 8 โมงเช้า ส่วนที่สาม ผู้ทำงานสลับกะ คือ อาทิตย์นี้เป็นกะเช้า อีกอาทิตย์เป็นกะบ่าย อีกอาทิตย์เป็นกะดึก ซึ่งทั้ง 3 ส่วน เรียกว่าการทำงานเป็นกะทั้งสิ้น
 
 จะเห็นได้ว่าบ้านเรา ก็มีหลายอาชีพไม่ว่า จะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ แพทย์ พยาบาล ตำรวจหรือแม้แต่ DJ ก็ตาม ส่วนใหญ่ก็ทำงานเป็นกะทั้งนั้น แน่นอนว่าวงจรชีวิตก็จะแตกต่างกันออกไป
 

DJ: การทำงานเป็นกะ แบบ 12 ชั่วโมง  กลางวันและกลางคืน แตกต่างกันอย่างไร?

นพ.ณัฐพล: แตกต่างกัน การทำงานเป็นกะในแต่ละประเภทจะมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันออกไป ก็อาจต้องมาแยกแยะในแต่ละกรณีไป
 

 

 อีกโรคหนึ่งที่สำคัญก็คือ คนที่เป็นโรคเบาหวาน ที่ต้องได้รับการรักษาโดยการฉีดอินซูลิน เพราะการทำงานกะจะทำให้การรับประทานกับการนอนไม่เป็นเวลา  ต้องคอยระวัง และนายจ้างก็ควรที่จะจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับลูกจ้างของตนด้วย
 
 
 
 

DJ: การทำงานกะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?

นพ.ณัฐพล: ปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีวงจรนาฬิกาของร่างกาย เริ่มดึกเราก็จะหาว เกิดอาการง่วงนอน หรือเมื่อใกล้มื้ออาหาร ท้องก็จะร้อง เกิดอาการหิว แบบนี้เรียกว่า วงจรนาฬิกาของร่างกาย ถ้าคนที่ทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะเป็นกะดึกหรือผู้ที่ทำงานหมุนเวียนสลับกะไปเรื่อยๆ แบบนี้จะเป็นการรบกวนวงจรนาฬิกาของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ฮอร์โมน แอมไซน์ต่างๆ หรือสารเซลล์ประสาทสมองของเรา มีกระบวนการทำงานเปลี่ยนแปลงไป ถ้าคนไหนที่ปรับตัวได้ดีก็ไม่มีปัญหา แต่คนไหนที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะทำให้มีความผิดปกติทางด้านสุขภาพขึ้นได้
 
 ความผิดปกติทางด้านสุขภาพแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเป็นความผิดปกติทางด้านร่างกาย กลุ่มที่สองเป็นความผิดปกติทางด้านจิตใจ กลุ่มที่สามเป็นความผิดปกติทางด้านครอบครัว
 

DJ: ความผิดปกติที่เกิดขึ้น สามารถใช้ระยะเวลาปรับตัวได้หรือไม่?

นพ.ณัฐพล: สามารถใช้เวลาปรับตัวได้ ช่วงแรกจะเป็นช่วงที่ปรับตัวค่อนข้างยาก เพราะคนเราเคยนอนเวลาปกติคือเวลากลางคืน แต่กลับต้องมานอนผิดเวลา ถ้าใครสามารถปรับตัวในช่วงแรกได้ อาจจะไม่เกิดแนวโน้มความผิดปกติของสุขภาพ
 

DJ: เดี๋ยวนี้ไม่ใช่การทำงานเป็นกะเพียงอย่างเดียว บางคนอาจทำงานควบกะด้วย แบบนี้ไม่ดีใช่มั้ยคะ?

นพ.ณัฐพล: ถูกต้องที่สุด การทำงานแบบนี้ไม่เป็นการสมควร การทำงานแบบนี้จะทำให้ร่างกายของเราล้า ประสิทธิภาพร่างกายเราจะลดลง อุบัติเหตุต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นง่ายอีกด้วย
 

DJ: การทำงานเป็นกะ ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย จะมีเรี่ยวแรงกำลังในการทำงานแตกต่างกันอย่างไร?

นพ.ณัฐพล: แตกต่างกันแน่นอน การจะเกิดโรคก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าเราเอาคนวัยหนุ่มสาวมาทำงานกะกับเอาผู้สูงอายุมาทำงานกะ หนุ่มสาวก็ต้องมีกำลังกายมากกว่าอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน ปัจจัยเรื่องเพศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อการทำงาน มีผลต่อความยากง่ายในการเกิดโรคเช่นกัน
 

DJ: คนที่ทำงานเป็นกะควรดูแลสุขภาพอย่างไรบ้าง?

นพ.ณัฐพล: อย่างแรกต้องปรับตัวเองในเรื่องของการนอนให้ได้ เช่นถ้าใครที่ทำงานกะดึก เลิกงาน 8 โมงเช้า ควรที่จะฝึกตัวเองให้นอนหลับในช่วงเช้า 9-10 โมงเช้า ฝึกร่างกายให้รับรู้ว่าเราต้องนอนหลับในช่วงนี้ให้ได้ สิ่งที่อยากจะแนะนำก็คือ อย่าใช้ยานอนหลับ เพราะอาจทำให้ต่อไปเราจะเกิดอาการดื้อยาและต้องเพิ่มยาไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่เป็นผลดี
 
 ต่อมาคือเรื่องรับประทานอาหาร  ถ้าทำงานกะกลางวัน ก่อนเข้างานควรทานเป็นมื้อใหญ่  ช่วงระหว่างทำงานถ้าหิวก็ให้ทานเป็นมื้อเล็กๆเช่น ผลไม้ ขนมปัง พอเลิกงานให้ทานแค่นิดหน่อย จะทำให้หลับสบายขึ้น  ซึ่งจะต่างกับการทำงานกะดึกก่อนเข้างานต้องทานแค่เพียงเล็กน้อย ถ้าระหว่างทำงานถ้าหิวก็ให้ทานเป็นมื้อเล็กๆเช่นกัน พอเลิกงานก็ให้ทานเป็นมื้อใหญ่ได้เลย  จะทำให้หลับสบาย คนที่ทำงานกะควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม  เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน อาจจะช่วยให้เราตื่นตัวได้บ้าง แต่คนที่ทำงานกะถ้าได้รับสิ่งเหล่านี้มากจะทำให้เกิดแนวโน้มเป็นแผลในกระเพาะอาหาร บางรายดื่มกาแฟมากจนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเลยก็มี
 

DJ: คนที่ทำงานลงจะดึก ควรจะนอนพักผ่อนกี่ชั่วโมง? 

นพ.ณัฐพล: โดยหลักการที่ถูกต้องควรจะนอนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
 

DJ: การดูแลสุขภาพนอกจากต้องปรับในเรื่องของการนอนและการรับประทานอาหาร มีเรื่องใดที่ควรปรับเพิ่มอีกหรือไม่?

นพ.ณัฐพล: ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องของการออกกำลังกาย จะให้ดีควรหาเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ ออกกำลังกายวันละ 30 นาที การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องไปที่ฟิตเนต เป็นที่บ้านก็ได้  ประหยัดเวลาด้วย
 อีกเรื่องที่อยากจะฝากไว้ คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่เป็นโรคบางโรคที่จำเป็นต้องทานยาเป็นประจำ เช่น โรคเรื้อรังพวกโรคเบาหวาน โรคความดัน  ควรที่จะปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพราะการทำงานกะเราอาจจะรับประทานหรือนอนไม่ตรงเวลาตามที่แพทย์กำหนด เพื่อแพทย์จะได้ปรับเวลาการรับประทานยาให้เหมาะสมกับเรา
 

DJ: คนที่เป็นนายจ้างควรที่จะดูแลใส่ใจลูกจ้างที่ทำงานกะอย่างไรบ้าง?

นพ.ณัฐพล: บทบาทสำคัญของนายจ้าง ควรเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคนที่จะมาทำงานกะ เพราะว่าพนักงานบางคนอาจมีโรคประจำตัว ไม่เหมาะสมที่จะทำงานกะ เช่น คนที่เป็นโรคซึมเศร้า อย่างที่พูดตั้งแต่ต้นว่า การทำงานกะจะมีผลกระทบต่อระบบสารเซลล์ประสาทสมอง เพราะฉะนั้นคนที่มีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้า  การทำงานกะอาจจะเป็นการกระตุ้นให้อาการที่เป็นอยู่มากขึ้น หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคลมชัก ถ้านอนไม่เป็นเวลา อาจจะเป็นการกระตุ้นอาการลมชักมากขึ้น  ถ้ายิ่งคนที่ทำงานขับรถด้วยแล้ว ถ้าเกิดอาการลมชักในขณะขับรถก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้

คำสัมภาษณ์แพทย์ ในช่วง Health talk รายการวิทยุ Happy & Healthy ขสทบ. FM 102 ทุกวันเสาร์ 9.00 -10.00 น. ดำเนินรายการโดย ปัทมพร บุพพะกสิกร และทีมงาน 
 
หัวข้อ "ทำงานเป็นกะอย่างไร? ให้มีความสุข"
วิทยากร นพ.ณัฐพล  ประจวบพันธ์ศรี  
แพทย์อาชีวะเวชศาสตร์  ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี
ออกอากาศ เมื่อวันที่  8 สิงหาคม   2552
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด