กำหนดนิยาม
“ฉุกเฉินการแพทย์” หมายความว่า การกระทำต่อมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมาย ว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน เกี่ยวกับการประเมิน การคัดแยก การวินิจฉัย การบำบัด และการเคลื่อนย้าย หรือการลำเลียง ด้วยวิธีการใช้ยา เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ นับแต่การรับรู้ถึงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินจนพ้นภาวะฉุกเฉินหรือส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ ทางการแพทย์และสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ การประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556
กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์
กำหนดการขึ้นทะเบียรับใบอนุญาต
มาตรา 12 ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ต้องมีความรู้ในวิชาชีพ คือ เป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาฉุกเฉินการแพทย์จากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์รับรองและต้องสอบผ่านความรู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์กำหนดสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย นอกจากต้องมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์จากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย
มาตรา 13 ในกรณีผู้ปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ซึ่งได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรสาขาอื่นที่เทียบเท่าปริญญาด้านฉุกเฉินการแพทย์ ด้านการแพทย์ ด้านการพยาบาล หรือด้านทันตกรรมและปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์อยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับและยังคงปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์อยู่ในวันยื่นคำขอในสถานพยาบาลหรือหน่วยปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน หรือองค์กรใดที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์รับรอง ให้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ โดยต้องผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์กำหนด ทั้งนี้ ให้ยื่นคำขอภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยสาขาฉุกเฉินการแพทย์ต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งให้ทราบถึงการไม่รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาต
มีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา (11 กันยายน 2564)