ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประชุมหารือยกเว้นวีซ่ารักษาพยาบาล 90 วัน (Non O-x และ Non-MT)

ประชุมหารือยกเว้นวีซ่ารักษาพยาบาล 90 วัน (Non O-x และ Non-MT) HealthServ.net

กองสุขภาพระหว่างประเทศ ประชุมหารือเพื่อเพิ่มเติมกลุ่มประเทศเป้าหมาย และขยายเวลาพำนัก ให้กับกลุ่มวีซ่าพำนักระยะยาว 10 ปี Non O-X และ Non-MT

ประชุมหารือยกเว้นวีซ่ารักษาพยาบาล 90 วัน (Non O-x และ Non-MT) ThumbMobile HealthServ.net
ประชุมหารือยกเว้นวีซ่ารักษาพยาบาล 90 วัน (Non O-x และ Non-MT) HealthServ
ประชาสัมพันธ์จากกองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) รายงานเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14.00 น. นางเสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมหารือเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศกระทรวงมหาดไทย และกฏกระทรวง ในการเพิ่มเติมกลุ่มประเทศเป้าหมายในนโยบายการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม รวมไม่เกิน 4 ราย และการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) (ระยะ 10 ปี) รหัสกำกับ Non O-X ณ ห้องประชุมสำนักกฎหมาย ชั้น 6 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยโดยที่ประชุมมีมติ 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
 
  1. กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการทำประกันสุขภาพ สำหรับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล 90 วัน โดยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 
  2. กำหนดบทเฉพาะกาลในการกำหนดให้ผู้ที่ขอรับการตรวจลงตรารหัส Non O-X เดิม สามารถใช้หลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพเดิมได้
  3. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาใช้กฎกระทรวงค่าธรรมเรียมฉบับเดิม เพื่อเปิดระบบการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล รหัส Non-MT โดยเร็ว

 

วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O-X และ วีซ่าประเภทท่องเที่ยว รหัส MT คืออะไร


 

วีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O-X 

การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O – X เพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว 10 ปี
 (Non – Immigrant Visa “O – X”  หรือ Long Stay Visa 10 years)
 
การตรวจลงตราประเภทนี้จะออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการพักผ่อนระยะยาว ทั้งนี้ ผู้ได้รับการตรวจลงตราจะสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้สูงสุด 10 ปี และสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้หลายครั้ง
 
การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “O-X” นี้ เป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นกรณีเดียวที่ผู้ร้องสามารถขอรับการตรวจลงตราได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ในการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว สาหรับคนต่างด้าวที่มีศักยภาพ จำนวน 14 ประเทศที่มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อเดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรระยะยาวรวมจำนวน 10 ปี โดยมีอายุการตรวจลงตราครั้งละ 5 ปี และได้รับอนุญาตให้พำนักในราชอาณาจักร คราวละ 5 ปี ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราครั้งละ 10,000 บาท
 
 
อายุวีซ่า
5 ปี (Multiple Entries)
 
ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร
5 ปี นับตั้งแต่เดินทางเข้าครั้งแรก (และสามารถขอขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรออกไปได้อีก 5 ปี) รวมพำนักได้ 10 ปี
 
ค่าธรรมเนียม
350 ยูโร (เงินสด)
 
 
 
1) คุณสมบัติของผู้ขอวีซ่า รหัส O-X
 
1.1 มีอายุ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
 
1.2 มีสัญชาติและถือหนังสือเดินทางของ 14 ประเทศ ดังนี้
(1) ญี่ปุ่น 
(2) ออสเตรเลีย 
(3) เดนมาร์ก
(4) ฟินแลนด์
(5) ฝรั่งเศส 
(6) เยอรมนี
(7) อิตาลี 
(8) เนเธอร์แลนด์ 
(9) นอร์เวย์
(10) สวีเดน 
(11) สวิตเซอร์แลนด์ 
(12) สหราชอาณาจักร
(13) แคนาดา
(14) สหรัฐอเมริกา
 
1.3 มีเงินฝากในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือ มีเงินฝากในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทและมีรายได้ประจำปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท โดยภายใน 1 ปี จะต้องมีเงินฝากประจำในธนาคารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
 
ให้คงเงินในหัวข้อ 1.3 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ถอนเงินนั้นได้ทั้งนี้ จะต้องมีเงินฝากเหลือในบัญชีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งการถอนเงินฝากจะถอนได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อยานพาหนะและการศึกษาของบุตร ในประเทศไทยเท่านั้น
 
1.4 ไม่มีประวัติที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งต่อประเทศไทยและประเทศที่ตนมีสัญชาติ หรือประเทศที่ตนมีถิ่นพำนักถาวร
 
1.5 ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2535) ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้าง โรคยาเสพติดให้โรค และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
 
1.6 มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร โดยมีจำนวนเงินประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่าสี่หมื่นบาท และกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่าสี่แสนบาท
 
 
2) เอกสารประกอบคำร้อง
 
2.1 หนังสือเดินทางที่มีอายุใช้ได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
 
2.2 แบบฟอร์มการขอรับการตรวจลงตรา (พร้อมรูปถ่ายขนาด 4 x 6 ซม. หน้าตรง ไม่สวมหมวก ถ่ายภาพในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 3 ชุด
 
3. แบบฟอร์มประวัติส่วนตัว จำนวน 1 ชุด
 
4. หลักฐานด้านการเงิน
 
4.1 หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคาร สำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือ
 
4.2 หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากของธนาคารพร้อมระบุข้อมูลสำหรับติดต่อธนาคาร สำเนาสมุดบัญชีคู่ฝาก และเอกสารใบแจ้งรายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement) ซึ่งแสดงเงินฝากประจำ จำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และมีเอกสารแสดงเงินรายได้ประจำต่อปีไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านบาท
 
5. เอกสารหรือหลักฐานรับรองความประพฤติ หรือหนังสือรับรองประวัติอาชญากรรมจากประเทศที่คนต่างด้าวถือสัญชาติ และหากคนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในประเทศอื่น ต้องมีเอกสารดังกล่าวจากประเทศที่คนต่างด้าวมีถิ่นพำนักถาวรด้วย
 
6. ใบรับรองแพทย์จากประเทศที่ยื่นคำร้อง ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2535 ได้แก่ โรคเรื้อน (Leprosy) วัณโรคในระยะอันตราย (Tuberculosis) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) โรคยาเสพติดให้โทษ (drug addiction) และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 (third phase of Syphilis) ทั้งนี้ ใบรับรองต้องมีอายุไม่เกิน 3 เดือน
 
7. สำเนาหลักฐานการมีประกันภัย (ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด) และกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทย โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่าพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และในกรณีผู้ป่วยใน ไม่น้อยกว่า 400,000 บาท
 
8. ค่าธรรมเนียม 10,000 บาท
 
*** คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส “O-X” เพื่อติดตามเข้ามาพำนักระยะยาวได้
 
9. คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่จำกัดอายุ) ให้ผู้ร้องแสดงหลักฐานทะเบียนสมรสประกอบคำร้อง ของทั้งผู้ร้องและคู่สมรส และต้องเตรียมเอกสารตามข้อ 1 -8
 
10. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้ร้องแสดงสำเนาสูติบัตรหรือเอกสารรับรองความเป็นบุตร และต้องเตรียมเอกสารตามข้อ 1 -3, 7 และ 8



*************


วีซ่าประเภทท่องเที่ยว รหัส MT 

วีซ่าประเภทท่องเที่ยว รหัส MT หรือวีซ่าประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส O - MT (Tourist MT and Non-Immigrant O - MT) เป็นวีซ่าที่ออกให้กับผู้มีคุณสมบัติ ดังนี้

  • การตรวจลงตราประเภทนี้ออกให้แก่คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล 
  • สำหรับการรักษาระยะสั้น ผู้ยืนคำร้องสามารถขอวีซ่าประเภท Tourist รหัส MT ซึ่งเข้าประเทศไทยได้ 1 ครั้ง และพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน
  • สำหรับการรักษาระยะยาว ผู้ยืนคำร้องสามารถขอวีซ่าประเภท Non-Immigrant O รหัส MT ซึ่งเข้าประเทศไทยได้ 1 ครั้ง และพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน

 

อายุวีซ่า
3 เดือน (Single Entry)

ระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักร
Tourist MT : 60 วัน ต่อครั้ง
Non-Immigrant O - MT : 90 วัน ต่อครั้ง

ค่าธรรมเนียม
Tourist MT : 35 ยูโร (เงินสด)
Non-Immigrant O - MT : 70 ยูโร (เงินสด)

 

เอกสารประกอบการพิจารณา

  • หนังสือเดินทางตัวจริง มีอายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดินทางเข้าประเทศ และมีหน้าสำหรับประทับตรวจลงตราไม่น้อยกว่า 2 หน้า
  • สำเนาหน้าแรกของหนังสือเดินทาง 1 ฉบับ
  • แบบฟอร์มขอวีซ่าที่กรอกข้อความสมบูรณ์ (ดาวน์โหลด) 1 ฉบับ ทั้งนี้ ขอให้ระบุที่อยู่อย่างชัดเจน (มีข้อมูลบ้านเลขที่ ชื่อถนน รหัสไปรษณีย์ และเมือง) นอกจากนี้ ต้องมีข้อมูลบุคคลที่สามารถติดต่อได้ในสหพันธ์ฯ ด้วย
  • รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก ขนาด 3.5 x 4.5 ซม. จำนวน 1 รูป (ถ่ายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) และติดรูปถ่ายบนแบบฟอร์มขอวีซ่าให้เรียบร้อย
  • สำเนาหลักฐานที่แสดงการเดินทางไปประเทศไทย เช่น บัตรโดยสารเครื่องบิน 1 ฉบับ
  • หนังสือจากโรงพยาบาล ยันยันการเข้ารับการรักษา โดยระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระยะเวลาในการรักษา 


เอกสารสำหรับ COE

สำเนาหนังสือรับรอง Confirmatin Letter (แบบฟอร์ม “DHSS/AHQ 1”) ซึ่งโรงพยาบาลที่เป็นสถานที่กักตัว (Alternative Hospital Quarantine / AHQ) กรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้ว และมีตราประทับรับรองจากกรมบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

→ หากผู้ป่วยมีผู้ติดตาม ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่

แบบฟอร์ม DHSS/ AHQ 2 ที่กรอกโดยผู้ป่วย และประทับตราโดยกระทรวงสาธารณสุข 

ผู้ร่วมเดินทางทุกคนต้องยื่นคำร้องขอวีซ่าต่างหาก

(กรุณาประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อขอรับแบบฟอร์มข้างต้น)

• สำหรับผู้ยื่นคำร้องสัญชาติอื่น (ไม่ใช่สัญชาติเยอรมัน) จะต้องยื่นเอกสารต่อไปนี้เพิ่มเติม: สำเนาใบแสดงที่อยู่ในเยอรมนี (Meldebestätigung) หรือสำเนาบัตรอนุญาตให้พำนักอาศัยในเยอรมัน (Aufenthaltstitel)


 
อ้างอิง
  • กระทรวงต่างประเทศ mfa
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก

 






ข้อมูลควรรู้เกี่ยวกับ VISA


1. คนต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราหรือขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่ตนมีถิ่นพำนัก หรือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลประเทศที่คนต่างชาติดังกล่าวมีถิ่นพำนัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานที่ขอวีซ่า กรุณาสอบถามได้จากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยทุกแห่ง สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่และที่ติดต่อของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ
 
2. คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งมี 2 กลุ่มดังนี้
(1) ประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน ดูรายละเอียดได้ที่ รายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว และสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน
(2) ประเทศที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรากับประเทศไทย ดูรายละเอียดได้ที่ รายชื่อประเทศที่ได้ทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต ราชการ และธรรมดา กับประเทศไทย
 
3. คนต่างชาติบางสัญชาติสามารถมาขอรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยบางแห่งที่กำหนดไว้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ (visa on arrival) ดูรายละเอียดได้ที่ รายชื่อประเทศที่สามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) และพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 15 วัน
 
4. คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศเขตติดโรคไข้เหลืองจะต้องแสดง “เอกสารระหว่างประเทศรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง” (International Health Certificate on Yellow Fever Vaccination) ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ รวมทั้งจะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ ดูรายละเอียดได้ที่ หลักเกณฑ์การตรวจลงตราแก่คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง
 
5. คุณสมบัติโดยทั่วไปของผู้ที่จะยื่นขอวีซ่าเข้าไทยได้มีดังนี้
– ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
– มีหลักฐานแสดงว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทยหลังจากสิ้นสุดการพำนักในไทย เช่น ตั๋วเครื่องบิน และมีวีซ่าหรือหลักฐานว่าสามารถเดินทางกลับประเทศที่มีถิ่นพำนัก หรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นได้ (ในกรณีขอเดินทางผ่าน)
– ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เช่น เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ มีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอในขณะพำนักในไทยตามระเบียบกำหนดคืออย่างน้อยคนละ 20,000 บาท เป็นต้น
 
6. ในการขอวีซ่านั้น คนต่างชาติจะต้องขอรับการตรวจลงตราให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ การอนุมัติวีซ่าอยู่ในดุลพินิจของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ และในการตรวจลงตราให้แก่คนต่างชาติบางสัญชาติ ได้มีการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นพิเศษ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่ง
 
7. เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการเดินทาง คนต่างชาติที่จะขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับอายุของวีซ่า (visa validity) และระยะเวลาพำนัก (period of stay) อายุของวีซ่าหมายถึงระยะเวลาที่ผู้ได้รับวีซ่าสามารถใช้เดินทางมาประเทศไทยได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กงสุลจะเป็นผู้กำหนดอายุของวีซ่าและจะปรากฏอยู่ในวีซ่าสติ๊กเกอร์หรือตราประทับวีซ่าของสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ โดยทั่วไปอายุของวีซ่าคือ 3 เดือนนับจากวันที่ออกวีซ่า แต่ในบางกรณีและสำหรับวีซ่าบางประเภทอายุของวีซ่าอาจเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ 3 ปี ส่วนระยะเวลาพำนักหมายถึงระยะเวลาที่ผู้เดินทางได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาพำนักเมื่อคนต่างชาติเดินทางมาถึง และจะปรากฏอยู่ในตราประทับขาเข้า ระยะเวลาพำนักขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่า เช่น transit visa จะได้รับอนุญาตให้พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน tourist visa ไม่เกิน 30 วันหรือ 60 วัน และ non-immigrant visa ไม่เกิน 90 วัน หากมีความจำเป็นต้องอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว คนต่างชาติต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตอยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (มีสำนักงานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด) มิฉะนั้น หากอยู่เกินกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับวันละ 500 บาทรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตอยู่ต่อ สอบถามได้จากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 0-2141-9889 หรือดูที่เว็บไซต์กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 
 
8. คนต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าประเภทใด ๆ ก็ตาม ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ดังนั้น คนต่างชาติที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องขอรับการตรวจลงตราประเภทที่ถูกต้องคือ Non-Immigrant Visa “B” เพื่อที่จะสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานได้ รายละเอียดเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตทำงานดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน 
 
9. สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยมีอำนาจหน้าที่ในการให้วีซ่าแก่คนต่างชาติเพื่ออนุญาตให้เดินทางมาประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้เข้าประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาที่จะอนุญาตให้พำนักในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ดังนั้น คนต่างชาติที่ได้รับวีซ่าแล้วบางรายอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะหรือพฤติการณ์เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด