นโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นบิ๊กเทรนด์ ที่กำลังเกิดขึ้นกับนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ได้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐที่มุ่งยกระดับให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ และเพื่อรักษาต่อยอดความเป็นผู้นำของฐานการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออกในภูมิภาคอาเซียน
กฟผ. ในฐานะผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวธุรกิจใหม่ของ กฟผ. นั่นคือ "EGAT EV Business Solutions"
บทบาทของ กฟผ. ในธุรกิจใหม่นี้ คือ "การเป็นผู้ช่วยและเป็นผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย" สู่ผู้บริโภค/ผู้ใช้ยานยต์ไฟฟ้านั่นเอง
ธุรกิจใหม่ของกฟผ. นี้ เกิดจากการรวบรวมความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ได้ศึกษา วิจัย และพัฒนา เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในระบบขนส่งสาธารณะ และการผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรค่ายรถยนต์ ในที่สุดจึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV ที่มุ่งหวังว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการ พร้อมๆไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดี ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ "ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า" ที่จะมีทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ ให้มีความสะดวกสบายมากที่สุด ทั่วถึงที่สุด ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคตและร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย เพื่อสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน
ธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions”
ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่
1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT”
ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ปลอดภัย มั่นใจ เพื่อรองรับทุกการเดินทางของผู้ใช้ยานยนต์ทั่วประเทศ
ปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 โดยเน้นขยายสถานีไปตามเส้นทาง การเดินทางหลักทั่วประเทศ เพื่อเลือกพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด
2. Mobile Application Platform “EleXA”
ที่เสมือนเป็นผู้ช่วย เพิ่มความสะดวกสบายในทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้สามารถเชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเครือข่ายทั้งหมดนี้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเครือข่ายไปพร้อม ๆ กันกับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
3. ตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger”
เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้ใช้งานรถ EV โดย EGAT Wallbox เป็น Home Charger ที่เล็กกะทัดรัด สวยงาม โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ในการเป็นผู้ดูแลให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาให้แก่ลูกค้าโดยตรง และในปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้า EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 kW ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้ ออกใช้งานในเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
4. ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform”
ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีเสถียรภาพ และมั่นคง ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาตรฐานและระบบวิเคราะห์ทางเทคนิคที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดนี้ พร้อมให้บริการประชาชนทุกคนในปี 2564 นี้อย่างแน่นอน โดย กฟผ. พร้อมเปิดรับพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าชมข้อมูลธุรกิจเพิ่มเติม ได้ที่ www.elexaev.com
ภาพและข่าวจาก กฟผ. มีนาคม 2564