5 ก.ค. 65 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุข Sandbox Area โรงพยาบาลราชพิพัฒน์และพื้นที่ 5 เขต (ทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน) โดยมี นายอำนาจ ปานเผือก สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางแค รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่ 2 ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสปสช. ผู้บริหารโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ผู้บริหารเขตบางแค ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ เพื่อการฟื้นฟูและประคับประคอง ซึ่งเป็นศูนย์สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะกลางและรับดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ต้องการได้รับการฟื้นฟูให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ พร้อม เปิดเผยถึงแนวคิดโมเดล Sandbox
โมเดล Sandbox
ภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของการบริการสาธารณสุขของกรุงเทพ ที่ไม่เป็นระบบ ไม่มีการประสานงานและการบริหารทรัพยากรของกรุงเทพที่มีอยู่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
จนกลายเป็นภาระของประชาชนที่ไม่สามารถพึ่งพิงหน่วยบริการพื้นฐานได้
และส่งผลต่อเนื่องต่อการเป็นภาระต่อโรงพยาบาลในระดับที่ใหญ่ขึ้น ที่ต้องแบกรับภาระเพิ่ม โดยที่หน่วยบริการพื้นฐานไม่สามารถแบ่งเบา
หน่วยบริการพื้นฐาน หรือสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ ของกรุงเทพมหานครที่กล่าวถึง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน
เมื่อไม่เป็นระบบ หรือระบบไม่ดีพอ และสร้างปัญหา จำเป็นต้องมีการออกแบบระบบและกลไกขึ้นมาใหม่
โมเดล Sandbox เกิดขึ้นจากการ ถอดบทเรียนจากปัญหาเหล่านั้น เพื่อหาทางออก แก้ปัญหา เพื่ออุดช่องว่างการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นระบบ
"Sandbox เกิดขึ้นมาจากการถอดบทเรียนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติต่างๆ เช่น คนล้นเตียงโรงพยาบาล การไม่ได้รับการประสานงานเมื่อเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ" - รองผู้ว่าฯ ทวิดา ให้ข้อมูล
แนวทาง Sandbox
แนวคิดคือ การใช้ระบบปฐมภูมิที่เป็น หน่วยบริการพื้นฐาน หรือสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน และในอนาคตอาจรวมถึงร้านขายยา โดยจะต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ หรือได้รับการรักษาพยาบาลใกล้บ้านได้ ต้องพัฒนาหรือนำเอาระบบและกลไกต่างๆ มาเสริมการบริการและทำให้เป็นมาตรฐาน ทั้งหมดก็เพื่อทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ๆ ลงให้ได้ หากจำเป็น หน่วยบริการสามารถที่จะช่วยในการประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ
หากแนวคิดนี้ ทำได้สำเร็จ ไม่เพียงแค่จะแก้ปัญหาเฉพาะ แบบโควิด-19 เท่านั้น แต่จะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่ดีอีกด้วย ระบบที่ประชาชนไว้ใจได้ พึ่งพาพึ่งพิงได้
"ประชาชนในทุกชุมชนจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ส่งผลให้สุขภาพชุมชนดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของระบบนี้ "
"Sandbox เป็นจุดเริ่มต้น จุดประสงค์ที่แท้จริง คือการสถาปนาให้ระบบปฐมภูมิแข็งแกร่ง แข็งแรง เสมือน 1 โรงพยาบาลใกล้บ้าน และเป็นการการันตีว่าเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะมีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยแน่นอน เพื่อแก้ปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งหาก Sandbox Area ประสบความสำเร็จ ประชาชนจะมีความมั่นใจในระบบปฐมภูมิว่าบางโรคสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษา มีเภสัชกรจ่ายยาผ่านระบบ Telemedicine มีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ผ่านระบบกลไก ผ่านระบบดิจิทัลที่ออกแบบไว้ เพื่อแก้ปัญหาคนที่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาล แก้ปัญหาคนล้นโรงพยาบาล ตามวัตถุประสงค์ของ Sandbox Area อย่างแท้จริง ซึ่งจะสามารถแก้ไขวิกฤติโรคระบาดได้ในอนาคต" รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
Sandbox ราชพิพัฒน์ Model
ทั้งนี้ Sandbox ราชพิพัฒน์ Model มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข การจัดบริการปฐมภูมิ การส่งต่อ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการ การส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่พิเศษเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ คือ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ (Sandbox area base) ให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ