นายประวิทย์ อนุชาญ เกษตรกร ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ที่เลิกปลูกพืชเชิงเดียว พร้อมกับการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ใช้ในการทำ การเกษตร โดยสวนของนายประวิทย์นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่การปลูกผัก เหลียงแซมภายในสวนยางพารา
ผักเหลียง เป็นผักพื้นบ้านที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้นิยมบริโภค จึงทำให้มีราคาสูงและมีตลาดรองรับตลอดทั้งปี ผักเหลียงจึงช่วยเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทาง หรือบางครั้งหากราคายางตกต่ำ ผักเหลียงก็ถือเป็นรายได้ หลักเลยทีเดียว
การดูแลผักเหลียงที่ปลูกแซมกับ ยางพารานั้นไม่ยาก เพียงหมั่นตรวจดูความชื้นของกิ่งชำ อย่างต่อเนื่อง และราก จะงอกภายในเวลาประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นตัดเอาลงปลูกในถุงดำ เมื่อต้นแข็งแรงดี นำลงหลุมปลูกในหลุมตรงพื้นที่สวนยางพาราที่เตรียมไว้
ระยะในการปลูก คือ ระหว่างแถวของต้นยางพารา โดยระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1 เมตร ให้ขุดหลุมปลูกความลึกประมาณ 30 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกวางต้นพันธุ์ในหลุมที่ขุดแล้วกลบฝังแต่พอแน่น รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้หลักปัก ผูกเชือกให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันลม จากนั้นให้ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ ในช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝนโดยโรยให้รอบโคนต้น
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคง่ายๆ ในการบังคับให้แตกยอดอ่อนเร็ว คือ การตัดแต่งกิ่ง อยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งตัดต้นไม่ให้สูงเกินมือเอื้อม เพื่อสะดวกต่อการเก็บยอดผักเหลียง
หากมีฝนทิ้งช่วงเกิน 3 วัน ก็จะนำน้ำไปรดเพื่อให้ต้นเหลียงมีน้ำเพียงพอ
สำหรับต้นปลูกใหม่ หลังปลูกประมาณ 2 ปี ก็จะสามารถเก็บยอดมาบริโภคและจำหน่ายได้โดยเก็บ 7 วัน ต่อ 1 ครั้ง ฉะนั้น จะต้องปลูกในปริมาณที่มากนิดหนึ่ง แล้วเก็บแบบสลับต้นเพื่อให้สามารถเก็บยอดได้ทุกวัน การเก็บ ควรเด็ดให้ชิดข้อ ไม่เด็ดกลางข้อหรือตัด เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนในครั้งต่อไปช้าลง
หลังเก็บแล้วอย่าให้ใบ หรือยอดอ่อนที่เก็บมาถูกแสงแดดและลม ควรพรมน้ำแต่พอชุ่ม ซึ่งจะสามารถเก็บได้ นานประมาณ 5-6 วัน
บทความจาก
คู่มือเกษตรกร...รู้ไว้ใช้จริง การเพาะปลูกพืช-ผัก
จัดทำโดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ