ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2567 (รายงาน ครม.)

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2567 (รายงาน ครม.) Thumb HealthServ.net
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2567 (รายงาน ครม.) ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2567 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบเป็นประจำทุกเดือน

 
 รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือน ธันวาคม2566 | 2567 มกราคม กุมภาพันธ์  มีนาคม  เมษายน   พฤษภาคม 

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2566

 
                     คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)  เสนอ

 
                     สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                     ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ CLMV ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น


                    อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนธันวาคม 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
 
                     1. รถยนต์ หดตัวร้อยละ 20.59 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยหดตัวจากตลาดในประเทศ (-30.66%) ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่ามากขึ้น ประกอบราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงต่อเนื่องกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่
                     2. น้ำตาล หดตัวร้อยละ 22.93 จากการเปิดหีบช้ากว่าปีก่อน 10 วัน (ปีก่อนเปิดหีบ 1 ธ.ค. 65) เนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่เพาะปลูกเป็นอุปสรรคต่อการเข้าตัดอ้อย ส่งผลต่อปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีก่อน
                     3. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 12.61 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก เป็นไปตามทิศทางความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว


                     อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                     1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 7.22 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซหุงต้ม เป็นหลัก ตอบสนองการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงปีก่อนโรงกลั่นเริ่มกลับมาผลิตปกติหลังหยุดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า
                     2. สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 43.29 จากสายไฟฟ้าเป็นหลักตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ (+55.55%) หลังได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐและความต้องการใช้ในภาคเอกชนขยายตัว
                     3. กระดาษ ขยายตัวร้อยละ 20.28 จากกระดาษคราฟท์และเยื่อกระดาษเป็นหลักตามความต้องการใช้ในบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า 

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2567

                    คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2567  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ         
                                                              
                   สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
 
                   ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีค่าอยู่ที่ 89.35 ลดลงร้อยละ 5.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน จากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ลดลงตามการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อาทิ ยานยนต์  จากการผลิตรถปิคอัพ 1 ตัน เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากรายได้เกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักปรับลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ตามการชะลอตัวของตลาดโลก ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง  คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ปรับตัวลดลงจาก Hard Disk Drive เป็นหลักจากความต้องการอุปกรณ์การจัดเก็บชะลอตัว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีอุปกรณ์อื่น ๆ  ในการจัดเก็บข้อมูลมีพื้นที่จัดเก็บมากและประสิทธิภาพสูงขึ้น สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2566  อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีโรงกลั่นบางโรงหยุดซ่อมบำรุง  สายไฟและเคเบิลอื่นๆ ชนิดใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการไฟฟ้าตามรอบการบำรุงรักษา ประกอบกับมีงานโครงการต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐ และเอกชนส่งผลให้ความต้องการใช้สายไฟฟ้ามีมากขึ้น เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของตลาดออนไลน์ ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งขยายตัว ความต้องการผลิตภัณฑ์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษจึงมีความต้องการมากขึ้น
 
           เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น


           อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
           1. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 9.63 จากรถบรรทุกปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก โดยหดตัวจากตลาดในประเทศ (-27.90%) ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่ามากขึ้น และหดตัวจากตลาดส่งออก (-3.92%)
           2. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 6.45 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เป็นหลัก
           3. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.71 จากภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการหดตัวในปีก่อน


           อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
           1. เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่และน้ำดื่มบรรจุขวด ขยายตัวร้อยละ 14.16 จากน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นหลัก ตามความต้องการบริโภคหลังสภาพอากาศร้อนขึ้นรวมถึงมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า
           2. ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวร้อยละ 58.68 จากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรได้ราคาดี เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น
           3. เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวร้อยละ 19.00 ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ (+54.38%) และตลาดส่งออก (+15.08%) โดยเฉพาะคู่ค้าหลักสำคัญ (ฮ่องกง อังกฤษ และ UAE) ที่ยังมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่อง รวมถึงฐานต่ำในปีก่อนจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก



           แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2567
           อุตสาหกรรม เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา       และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม การเร่งก่อสร้างโครงการภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.0-3.0 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง อาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการไทย และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม Smart Electronics อาจจะส่งผลดีต่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3.0-5.0 เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามความต้องการของตลาดโลกและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ความต้องการอุปกรณ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ของผู้บริโภค

           ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ยางรถยนต์ และถุงมือยาง จะขยายตัว ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ โดยยางแปรรูปขั้นปฐมจะขยายตัวจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยางรถยนต์จะขยายตัวจากแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ขณะที่ถุงมือยางจะขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก

           คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัว เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้า เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก  ที่ยังคงชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น
 

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

  คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ  ดังนี้

                   สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                   ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น อาเซียน (5) CLMV และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

 
                   อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                   1. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 16.83 จากบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ  (-27.24%) กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัว สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ
                   2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 18.66 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง
                   3. น้ำมันปาล์ม หดตัวร้อยละ 27.23 จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เนื่องจากภาวะภัยแล้งส่งผลให้มีผลปาล์มดิบลดลงจากปีก่อน ซึ่งหดตัวจากตลาดในประเทศ (-16.19%) และตลาดส่งออก (-85.91%)

 
                   อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                   1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 7.59 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน 91  และ แก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการในภาคขนส่งและเดินทางท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
                   2. ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน ขยายตัวร้อยละ 39.82 จากการกระตุ้นยอดขายของราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดอยู่ในเกณฑ์ดี และราคาสินค้าปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยที่ต่ำกว่าปีก่อน
                   3. เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวร้อยละ 24.56 ในทุกรายการสินค้า (กำไล ต่างหู สร้อย แหวน และจี้) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทำให้มีคำสั่งซื้อและส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญมากขึ้น เช่น กาตาร์ เบลเยี่ยม อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอมริกา

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2567

  คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2567 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

                   สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                   ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนปรับตัวลดลง เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น อาเซียน (5) CLMV ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวในกลุ่มรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
 
                   อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมีนาคม 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                   1. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 22.63 จากบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ (-33.15%) เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ปัญหาการผ่อนชำระหนี้ สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
                   2. น้ำตาล หดตัวร้อยละ 25.26 จากน้ำตาลทรายดิบ กากน้ำตาล และน้ำตาลทรายขาว เป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตอ้อยสดมีน้อยกว่าปีก่อนจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบบางพื้นที่ 
                   3. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 15.33 จาก Integrated circuits (IC)                 เป็นหลัก ตามการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการบริโภคและลงทุน  

 
                   อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนมีนาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                   1. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 5.32 จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในการเดินทางที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
                   2. แป้งมันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 47.65 จากแป้งมันสำปะหลัง เป็นหลักตามปริมาณหัวมันสดเข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อนหลังปัญหาโรคใบด่างเริ่มลดลง หัวมันสดได้ราคาดี เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
                   3. อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 8.45 จากอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารสุกรสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากตลาดส่งออก (+33.62%) ตามความนิยมในการเลี้ยงสุนัขและแมว สำหรับอาหารสุกรเพิ่มขึ้นตามปริมาณการเลี้ยงหมูของเกษตรกรที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2567

 คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1/2567 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2/2567 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2567 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอดังนี้

                     สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                     ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีค่าอยู่ที่ 100.93 ลดลงร้อยละ 3.58 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นการปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ตามการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก โดยการผลิตเพื่อส่งออกยังคงชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีการปรับตัวลดลงในสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรม หลังจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง และรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นน้อย สวนทางกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อาทิ ยานยนต์จากสินค้ารถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก จากกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนตัวลง หนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกระทบต่อการออกรถยนต์ใหม่ ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนหันไปซื้อรถยนต์มือสองที่มีราคาถูกกว่า ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชะลอตัว และ น้ำมันปาล์ม จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดน้อยลง สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปีโตรเลียม จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ทิศทางการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางมีมากขึ้น ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจนเป็นการผลิตเพื่อรองรับการเพาะปลูกในช่วงถัดไป ประกอบกับสามารถนำเข้าแม่ปุ๋ยได้เพิ่มขึ้นซึ่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนเกิดปัญหาขาดแคลนแม่ปุ๋ยและมีราคาแพง และ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ และน้ำดื่มบรรจุขวดประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากสินค้าเกือบทุกรายการ ยกเว้นเครื่องดื่มกาแฟสำเร็จรูปจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น

 
                     ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 90.34 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากฐานของปีก่อนต่ำ เนื่องจากเดือนเมษายน ปี 2566 ค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมค่อนข้างต่ำ (MPI เดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 87.35) และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม และการกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
 
                     อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนเมษายน 2567 ขยายตัวเมื่อเทียบกับ
ช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                     1. เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 24.19 ตามความต้องการบริโภคมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและผู้ผลิตพัฒนาสินค้าตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อาทิ กรอง PM 2.5 โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศ (+18.64%) และตลาดส่งออก (+15.54%) ไปสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง
                     2. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 4.78 จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก โดยน้ำมันเครื่องบินและแก๊สโซฮอล์ 91 ขยายตัวตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีก่อน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น
                     3. อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 18.11 จากอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ และอาหารสุกร เป็นหลัก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากตลาดส่งออก (+36.25%) ตามความนิยมในการเลี้ยงสุนัขและแมว เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาหารไก่และอาหารสุกร ก็เพิ่มขึ้นตามปริมาณการเลี้ยงของเกษตรกร

 
                     อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                     1. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.16 จาก Integrated Circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก
                     2. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 6.82 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อีกทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยหดตัวทั้งตลาดในประเทศ (-27.97%) และตลาดส่งออก (-6.81%)
                     3. ปูนซีเมนต์ หดตัวร้อยละ 7.39 จากพื้นสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลักตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
                     แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 2/2567
                     อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์การผลิตจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม การเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาดำเนินการได้ตามการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

                     อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัวประมาณร้อยละ 9.06
เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 7.57 จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การผลิตชิปขั้นสูง และการพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน รวมทั้ง การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ
 
                   อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูป ขั้นปฐม  (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ยางรถยนต์ และถุงมือยาง จะขยายตัว ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ โดยยางแปรรูปขั้นปฐมและถุงมือยางจะขยายตัวจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ยางรถยนต์จะขยายตัวจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

                     อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงสงกรานต์ ในส่วนของภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้า เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย
 

รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2567

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2567  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
 
                  สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
                     ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการผลิตรถยนต์ลดลงต่อเนื่อง มาจากตลาดผู้บริโภคภายในประเทศลดลง ปัญหาสภาพคล่องในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนค่าครองชีพสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์ดีต่อเนื่อง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
 
                     อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤษภาคม 2567 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
                     1. ยานยนต์ หดตัวร้อยละ 14.22 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
                     2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.16 จาก Integrated Circuits (IC) เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตลดลง
                     3. ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวร้อยละ 11.97 จากเสาเข็มคอนกรีต        พื้นสำเร็จรูปคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายยังมีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง จึงชะลอคำสั่งซื้อ
 
                     อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
                     1. น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 19.88 จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น หลังปาล์มสุกไวจากอากาศร้อนจัดในช่วงก่อนหน้า
                     2. อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 10.55 ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าตะวันออกกลาง บาห์เรน ญี่ปุ่น และการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ
                     3. เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวร้อยละ 8.18 จากเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กเส้นข้ออ้อยเป็นหลัก เนื่องจากจีนอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนผู้ผลิตเหล็กบางรายที่เลี่ยงชำระภาษีส่งออก จีนจึงชะลอการส่งออกเหล็ก

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด