ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สื่อความรู้ โรคไข้หวัดนก ฉบับอสม. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ดูแลประชาชน

สื่อความรู้ โรคไข้หวัดนก ฉบับอสม. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ดูแลประชาชน Thumb HealthServ.net
สื่อความรู้ โรคไข้หวัดนก ฉบับอสม. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ดูแลประชาชน ThumbMobile HealthServ.net

จากข่าวสธ.ยืนยันการพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี ของประเทศกัมพูชา โดยพบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งประชาชนสามารถรับเชื้อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) มีความห่วงใย จึงผลิตสื่อความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก ส่งต่อให้อสม. ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมดูแลประชาชน

สื่อความรู้ โรคไข้หวัดนก ฉบับอสม. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ดูแลประชาชน HealthServ
         สื่อความรู้ เรื่อง "สิ่งที่ประชาชนควรรู้ เข้าใจและป้องกัน โรคไข้หวัดนก"  จัดทำโดย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อกระจายให้กับ เหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ  เพื่อเป็นคู่มือสื่อสารความรู้ สร้างความเข้าใจ และ เตรียมความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนก ให้กับประชาชน 
 

          นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการยืนยันถึงการพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี ของประเทศกัมพูชา โดยพบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งประชาชนสามารถรับเชื้อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง
เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยในเดือนเมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันจะมีการเดินทางอย่างคับคั่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กรม สบส.จึงได้ผลิตสื่อความรู้ เพื่อเผยแพร่และสื่อสารแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของไข้หวัดนกในคนและสัตว์ปีก ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และได้ส่งต่อให้ อสม.ทั่วประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนประชาชนในชุมชนได้ร่วมกันป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกต่อไป
 
          ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับสื่อความรู้ที่ กรม สบส.ผลิตขึ้นมานั้น จะมุ่งเน้นในการให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ซึ่งประกอบด้วย นิยามของโรคไข้หวัดนก สัตว์ชนิดใดที่สามารถติดโรคไข้หวัดนก การติดต่อโรคไข้หวัดนกสู่คน อาการของโรคไข้หวัดนก วิธีการวินิจฉัยโรค การป้องกัน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ อสม.ให้สามารถแนะนำกับประชาชนและกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรงเมื่อเกิดอาการป่วยในการป้องกันโรค รวมทั้ง เฝ้าระวัง สังเกตอาการผู้ป่วยที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ หรือผู้ป่วยในชุมชน หากเข้าเกณฑ์ต้องสงสัยว่าจะมีอาการป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกจะได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที  
สื่อความรู้ โรคไข้หวัดนก ฉบับอสม. เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ดูแลประชาชน HealthServ

โรคไข้หวัดนกคืออะไร

โรคไข้หวัดนกเกิดจากการ ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในนกและสัตว์ปีก โดยอาการและความรุนแรงของโรคขึ้นกับสายพันธุ์ ของไวรัสและชนิดของสัตว์ปีกที่ติดเชื่อสายพันธุ์ที่มี การแพร่ระบาดหลายประเทศ ขณะนี้ คือ H5N1 ซึ่งทำให้สัตว์ปึกที่ติดเชื้อมีอาการป่วยที่รุนแรง และตายอย่างรวดเร็ว

สัตว์ชนิดใดบ้างที่สามารถติดเชื้อไข้หวัดนก

ไข้หวัดนกสามารถติดต่อได้ในสัตว์ปีกทุกชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง โดยการสังเกตอาการ สัตว์ปีกหรือนกที่เลี้ยงไว้อาจป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก ได้ดังนี้ ยืนหรือเดินไม่ตรง ขนยุ่งไม่เป็นระเบียบ หายใจลำบากหรือหายใจขัด อ่อนเพลียหรือไม่กินอาหาร มีอาการบวมตามหัว หนังตา หงอน เหนียงหรือขา น้ำมูกไหล ถ่ายเหลวเป็นน้ำ และตายอย่างกระทันหัน

โรคไข้หวัดนกติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร

โรคไข้หวัดนกสามารถติดต่อจากสัตว์ปีกมาสู่คนได้ ทั้งจากการสัมผัส สารคัดหลั่ง จากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของ สัตว์ปึก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส จากสัตว์ปีกที่ป่วย สำหรับการติดต่อจากคนสู่คนมีโอกาสเกิดได้น้อย

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก คือ ผู้ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไข้หวัดนกมักมีอาการเด่นชัด คือ ไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่ มีอาการไอและหายใจเหนื่อยหอบจากปอดอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะ แทรกซ้อนทางปอดรุนแรง คือ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว นอกจากนี้ อาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย และอาจพบอาการทางระบบ ประสาท เช่น ซึม ชัก ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากจะมีภาวะการทำงานของ อวัยวะต่างๆ ล้มเหลวและเสียชีวิตได้

            กลุ่มผู้ป่วยที่มักจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

มีวิธีการวินิจฉัยโรคอย่างไร

แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อ ไข้หวัดนก จะเก็บสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ น้ำมูก จาก ทางเดินหายใจและอุจจาระ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การป้องกันโรคไข้หวัดนกทำได้อย่างไร

วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการสัมผัส สัตว์ปึกและสารคัดหลั่งที่ มาจากสัตว์ปีกโดยตรง หากมีการสัมผัส ควรใช้สบู่ล้างมือให้สะอาด ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีกควรสวมอุปกรณ์ ป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น หน้ากากปิดจมูก ถุงมือ แว่นตา รวมทั้ง ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดภายหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือเสร็จจากการทำงาน
  • การปรุงอาหาร ควรแยกอุปกรณ์ทำอาหารดิบและอาหารสุก
  • กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ กินร้อน ช้อนกลาง
  • ล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจาก สัมผัสพื้นผิว และอุปกรณ์ของใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อน ให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  •  สายด่วนกรมควบคุมโรค 1442
  • สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด