ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ

การรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ

การรักษา โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ มีทางเลือกดังนี้
  1. การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกซีแพ๊พ (CPAP)
  2. การใช้ฟันยาง
  3. การผ่าตัด
หากคุณมีโรคนี้ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรง และอาการแตกต่างกันได้มาก การรักษาในแต่ละรายจึงมีความเหมาะสมที่แตกต่างไม่เหมือนกัน
 
  1. เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก หรือ ซีแพ็พ (CPAP)
    เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการ เปิดขยาย และถ่างทางเดินหายใจส่วนต้น ไม่ให้ ตีบแคบขณะที่เรานอนหลับ โดยตัวเครื่องจะ เป่าลมผ่านท่อสายยาง ไปสู่จมูกผู้ป่วย ผ่านจากหน้ากาก (ดังรูป)

    เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละราย จะต้องการแรงดันที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ใน ห้องปฏิบัติการจะค่อยๆ ปรับแรงดันที่เหมาะสมจนไม่มี อาการกรน หรือหยุดหายใจ ให้แต่ละคน ปัจจุบันเครื่องและ หน้ากากนี้มีหลายรูปแบบและหลายบริษัท เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน จึงสามารถลอง เลือกใช้เครื่องหรือหน้ากาก ที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

    ปัญหาที่อาจพบได้บ่อยขณะที่ใช้เครื่องมีดังนี้
    - คัดจมูก
    - ปากแห้ง คอแห้ง
     - ลมรั่วจากหน้ากาก
     - ลมแรงเกินไป

    เมื่อเริ่มต้นใช้เครื่องหากพบปัญหาเหล่านี้ ผู้ป่วย ไม่ควรละทิ้งเครื่อง ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยแก้ไข เพราะการใส่เครื่องในช่วงแรกอาจยังไม่คุ้นเคย ต้องอาศัยการปรับตัวให้ชินกับเครื่องระยะหนึ่ง แล้วจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อ หลับได้ดีขึ้น ไม่มีนอนกรนหรือ หยุดหายใจ แล้ว

    การรักษาด้วยเครื่องซีแพ็พจึงถือเป็นมาตรฐานการรักษาโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ เนื่องมีประสิทธิภาพสูงในผู้ป่วยเกือบทุกราย แต่จะเป็นผลสำเร็จในระยะยาวหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้ป่วย
     
  2. การใส่ฟันยาง หรือ Oral Appliance
    ผู้ป่วยบางราย อาจรักษาได้ผลดี ด้วยการใส่ฟันยาง  การใส่ฟันยางนี้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ และประดิษฐ์ ฟันยางให้ผู้ป่วยแต่ละคน จะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีระดับโรค เล็กน้อย และ ปานกลาง แต่ผู้ป่วยที่เป็นระดับโรครุนแรงมักไม่ได้ผลเท่าที่ควร ฟันยางนี้ จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้นโดยการ ยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นมาทางด้านหน้า  ปัญหาที่พบได้จากการใส่ฟันยางนี้ เช่น ปวดขากรรไกร การสบฟันเปลี่ยนไป น้ำลายไหลมาก
     
  3. การผ่าตัด
    เพื่อรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ได้ผลในบางราย เช่น การผ่าตัด ต่อมทอนซิลและอะดินอย์ในเด็ก จะสามารถช่วยเด็กได้มาก ถือเป็นมาตรฐานการรักษาในเด็ก แต่ในผู้ใหญ่ควรพิจารณาเป็นรายๆไป ที่เหมาะสม
 
การผ่าตัดมีอะไรบ้าง
 
  1. การผ่าตัดจมูก เช่น แก้ไขจมูกคด หรือ จี้ เยื่อบุโพรงจมูกที่บวม จะช่วยลดอาการคัดจมูกหรือกรนได้บ้าง แต่มักไม่ช่วยทำให้โรคหายได้ จึงมักเป็นการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น
  2. การผ่าตัดในระดับลิ้นไก่ เพดานอ่อน ( เช่น Uvulopharyngopalatoplasty,UPPP) ได้ผลดีในครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ทาง หู คอ จมูก ก่อนว่า ผู้ป่วยรายนั้นเหมาะสมที่จะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดนี้ เช่น พูดไม่ชัด สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น
  3. การผ่าตัดอื่นๆ เช่น การผ่าตัดระดับโคนลิ้น
  4. การผ่าตัดเลื่อนขากรรไกร  ซึ่งก็อาจได้ผลดีกว่าการผ่าตัดระดับลิ้นไก่อย่างเดียว แต่ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า  โดยมากการผ่าตัดมักจะทำให้เสียงกรนดีขึ้น แต่อาจยังไม่สามารถ รักษาให้การหยุดหายใจขณะหลับหายไปได้หมด จึงควรติดตามอาการ และตรวจการนอนหลับซ้ำในห้องปฏิบัติการภายหลังได้รับการผ่าตัดแล้วระยะหนึ่ง
 
 ก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์ให้ดี ก่อนถึงข้อดีและข้อเสีย
 
การรักษาอย่างอื่นๆ
  • ในบางรายที่เป็นมากจนอันตรายถึงชีวิต อาจต้องทำการเจาะคอ บริเวณหลอดลม เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย
  • การยิงฝัง พิลลาร์ (Pillar implantation) ที่บริเวณเพดานอ่อน มักไม่ได้ผล ในรายที่เป็นปานกลางถึงรุนแรง แต่จะสามารถลดเสียงกรนได้ ในผู้ป่วยเป็นน้อยมากที่มีแต่อาการกรนอย่างเดียว
  • ส่วนออกซิเจน ไม่ใช่การรักษาหลักในโรคนี้ ไม่สามารถทำให้หายได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคปอดร่วมด้วยอาจต้องใช้ร่วมกับ เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก
 
การปฏิบัติตนทั่วไป
  1. การลดน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน จะช่วยให้ โรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น อาการกรน น้อยลงและ นอนหลับได้ดีขึ้น การรักษาอื่นที่ได้รับได้ผลมากขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการดื่ม แอลกอฮอล์ ช่วง 4 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะ  แอลกอฮอล์จะทำให้การนอนหลับแย่ลง และ ยังกดการหายใจทำให้ กรนมากขึ้น และโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ จะเป็นมากขึ้น
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ เพราะยานอนหลับ กดการหายใจทำให้ กรนมากขึ้น และโรคนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ จะเป็นมากขึ้น หากผู้ป่วยมีนอนไม่หลับร่วมด้วยจะ ควรปรึกษาแพทย์ มากกว่า
  4. พยายามนอนตะแคง อาการจะน้อยกว่านอนหงาย
  5. หากง่วงนอนขณะขับรถ ควรหยุดขับ จอดข้างทางเพื่อพัก หรือเปลี่ยนคนขับ พึงระวังไว้ว่ามีอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนร่วม  ง่วงไม่ขับ

ศูนย์โรคการนอนหลับ  SleepCenter.mahidol.ac.th
อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ 02-200-3768  กด 0 โทรสาร 02-201-3761
270 Rama 6 Rd, Rajataewe, Bangkok, Thailand
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด