ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ราชกิจจาฯ การตรวจวิเคราะห์สาร CBD THC และสารอื่นๆ ในการปลูกกัญชา

ราชกิจจาฯ การตรวจวิเคราะห์สาร CBD THC และสารอื่นๆ ในการปลูกกัญชา Thumb HealthServ.net
ราชกิจจาฯ การตรวจวิเคราะห์สาร CBD THC และสารอื่นๆ ในการปลูกกัญชา ThumbMobile HealthServ.net

ประกาศราชกิจจานุเบกษา 7 ธันวาคม 2564 ออกโดยคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เป็นคำสั่งให้ผู้ปลูกกัญชาจะต้องจัดให้มีการทดสอบปริมาณสาร CBD THC หรือสารสำคัญอื่นๆ และต้องตรวจทดสอบ สารปนเปื้อนโลหะหนัก หรือสารอื่น หรือสิ่งปนเปื้อน (ข้อ 4) ก่อนนำออกจากที่ปลูก รวมทั้งได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารปนเปื้อนแต่ละชนิดไว้ชัดเจน (ข้อ 3)

 
ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่องการตรวจหรือการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบปริมาณสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol,CBD) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol,THC) หรือสารสำคัญอื่นและปริมาณสารปนเปื้อนโลหะหนัก หรือสารอื่น หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายในกัญชาที่ได้จากการผลิตโดยการปลูก พ.ศ. 2564 
 
 
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 45 (8)และ(9) แห่งกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิตนำเข้าส่งออกจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.2564 ประกอบมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษในการประชุมครั้งที่ 433-9/2564 เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2564  คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษจึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ 
 
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ข้อ 2 ในระหว่างการปลูก  ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูกหรือผู้รับอนุญาต ซึ่งเป็นผู้รับผลผลิตจากผู้รับอนุญาตผลิตโดยการปลูก อาจจัดให้มีการตรวจสารปนเปื้อนโลหะหนักหรือสารอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
 
ข้อ 3 สารปนเปื้อน โลหะหนัก หรือสารอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายตามข้อ 2 ต้องไม่เกินปริมาณดังต่อไปนี้ 
(1) สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง  (Pesticideresidues) ไม่เกินปริมาณตามที่ระบุในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ฉบับค.ศ.2020 หรือฉบับที่ตีพิมพ์ใหม่กว่า
 
(2) โลหะหนัก (Heavymetal) 
(ก) สารหนู (Arsenic) ไม่เกิน 4 ส่วนในล้านส่วน
(ข) แคดเมียม (Cadmium) ไม่เกิน 0.3 ส่วนในล้านส่วน
(ค) ตะกั่ว (Lead) ไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน
(ง) ปรอท (Mercury) ไม่เกิน 0.5 ส่วนในล้านส่วน
 
ข้อ 4 ก่อนนำกัญชาออกจากสถานที่ปลูกทุกครั้ง ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูกต้องจัดให้มีการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบปริมาณสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol,CBD) สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol,THC)  หรือสารสำคัญอื่น และสิ่งปนเปื้อน
 
ข้อ 5 สิ่งปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายตามข้อ 4 ต้องไม่เกินปริมาณดังต่อไปนี้
(1) สารปนเปื้อน โลหะหนัก หรือสารอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในข้อ 3
 
(2) สิ่งแปลกปลอม ที่เป็นชิ้นส่วนอื่นของพืชหรือชิ้นส่วนของอวัยวะสัตว์ หรือวัตถุอื่นไม่เกินร้อยละ 2 โดยน้ำหนัก
 
ข้อ 6 การตรวจตามข้อ 2 และการวิเคราะห์ตามข้อ 4 ให้ใช้วิธีการทดสอบตามที่ระบุในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia) ฉบับค.ศ.2020 หรือฉบับที่ตีพิมพ์ใหม่กว่า หรือวิธีการทดสอบตามตำรายาอื่น หรือวิธีการทดสอบอื่นที่มีความเหมาะสม ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ (validation) 
 
ในกรณีที่มีข้อสงสัยในผลการตรวจหรือการวิเคราะห์ตามวรรคหนึ่ง ต้องยืนยันผลการตรวจหรือการวิเคราะห์โดยใช้ตัวอย่างเดิม หรือตัวอย่างในรุ่นการผลิตเดิม ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์
 
ข้อ 7 ความในข้อ 2 และข้อ 4 ไม่ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูก ซึ่งได้รับการรับรองระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (Good Agricultural Practices For Herbs) หรือได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามกฎหมาย ว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยต้องแสดงหลักฐานใบรับรองดังกล่าวให้ผู้อนุญาตพิจารณาให้ความเห็นชอบ
 
 
ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2564
ธงชัย กีรติหัตถยากร
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ
ประธานกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
 
ประกาศฉบับเต็ม@fda
 
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด