Covid-19: D-Day เมื่อรุ่งอรุณของวันใหม่ 7 มิ.ย. 2564 ในวันที่เราอยากจะเรียกว่า จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของสงคราม
มีไม่กี่วันในช่วงชีวิตของมนุษย์หนึ่งคนที่จะอยู่ในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่จะเกิดวันที่จะพอเรียกกันได้ว่าเป็น D-Day
ปัจจัยคือ
หนึ่ง วิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นหายนะระดับโลก ระดับศตวรรษ
สอง มีผู้คนล้มหายตายจากไปแล้วนับไม่ถ้วน และจะมีอีกมากถ้าพ่ายแพ้
สาม ความทุ่มเท การระดมทรัพยากร และความพร้อมเพรียงอย่างมโหฬารที่สุด เพื่อสู้แบบไม่ชนะไม่เลิก
Covid-19 เป็นบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 ทั้งทางด้าน วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ระบบการเงิน รัฐศาสตร์ และศีลธรรม รวมถึงเป็นบททดสอบครอบครัว รัฐบาล ธุรกิจ รวมถึงพวกเรา Individual แต่ละคนด้วย
บางการทดสอบมนุษย์ก็ทำได้ดี แต่บางการทดสอบก็แย่เอามากๆ ณ วันที่เราเรียกว่า D-Day นั้น เรายังไม่รู้จุดจบของสงครามว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
สงครามในธรรมชาตินั้นตรงไปตรงมา ใครชนะก็อยู่รอด ใครแพ้ก็หายไป ไม่มีการเจรจาพักรบ ไม่มีการหย่าศึก
D-Day วันนี้สำหรับแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะบันทึกมันไว้อย่างไร สำหรับบางคนก็แค่วันธรรมดาวันหนึ่ง บางคนกำลังฮึกเหิม บางคนกำลังโกรธเกรี้ยว บางคนเต็มไปก้วยความกังวล บางคนได้รับวัคซีนครบแล้ว บางคนกำลังจะก้าวเท้าออกไปรับเข็มแรก
ไม่ว่าจะอย่างไร วันนี้ก็จะผ่านไป และเราก็หวังว่ามันจะผ่านไปแบบดีที่สุด มีความหมายที่สุดต่อการต่อสู้ในวันถัดไป และถัดจากนี้ วันที่เราจะตั้งตารอก็คือ วันที่สงครามสิ้นสุดลง วันที่ทุกคนสามรถพูดได้ว่า The War is over.
ร่วมด้วยช่วยกันต่อสู้นะครับ ชวยกันประคับประคองให้ทุกคนอยู่รอดกันได้จนจบสงครามนี้ไปด้วยกัน เมื่อออกสู่สนามรบ แต่ละคนอาจได้อาวุธที่ดีและมีอานุภาพไม่เท่ากัน แต่ถ้าคนที่ได้ปืนใหญ่ปกป้องคนถือปืนเล็ก คนที่ถือปืนเล็กปกป้องคนมือเปล่า ส่วนคนมือเปล่ากำหมัดปกป้องเด็กและผู้คนที่สู้เพื่อตัวเองไม่ได้ ถ้าเราช่วยกันได้แบบนี้ ถ้าแพ้ก็แพ้ด้วยกัน และถ้าชนะก็จะชนะด้วยกันครับ และผมคิดว่า โอกาสชนะจะมีมากกว่าอย่างแน่นอนครับ ขอให้ทุกคนโชคดี และได้พบกันเมื่อสงครามสิ้นสุดลงครับ
Sunt Srianthumrong
7 มิ.ย. 2564