กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิดพบ 90% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ขณะที่สายพันธุ์อินเดียพบ 235 ราย อยู่ในกทม. 206 รายในแคมป์คนงานหลักสี่ ขณะที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ 26 รายจำกัดวงตากใบ จ.นราธิวาส ด้านศูนย์จีโนมย้ำ! ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศ
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง "การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย" ว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมที่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยรวม 3,964 ตัวอย่าง
- พบว่าส่วนใหญ่ หรือ 90% หรือ 3,595 ราย เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) ถือว่าขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษครองเมือง
- นอกจากนี้เรายังพบสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์เดลต้า(Delta) 235 ราย พบว่า 206 รายอยู่ในกทม. ในแคมป์คนงานหลักสี่ นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่ นอกจากนี้ยังมีบุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย ที่น่าห่วง คือ จ.อุดรธานี 17 ราย จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีที่ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย สระบุรี 2 ราย
"ส่วนที่เราซีเรียส และต้องเฝ้าระวังคือสายพันธุ์แฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้ตรวจพบแล้ว 26 ราย แต่โชคดีที่เรายังพบเฉพาะที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้มีการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 30,000 รหัสพันธุกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทั่วโลกในการถอดรหัสและได้มีการแชร์ข้อมูลผ่านระบบกลาง ซึ่งประโยชน์จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิดจะทำให้ทราบแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค เหมือนกรณีของที่ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ขณะนั้นเจอติดเชื้อ 100 คน และได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อมาที่ศูนย์จีโนม จึงได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมจนพบว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้มีการจำกัดขอบเขตของการระบาด และขณะนี้ก็ยังพบเพียงในพื้นที่อยู่ ขณะที่สายพันธุ์อังกฤษพบไม่มากประมาณ 1%
“นอกจากนี้ เราก็ยังมีการติดตามสายพันธุ์ B.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย) แต่สายพันธุ์นี้ไม่น่ากังวล เนื่องจากไม่พบความรุนแรง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า (Beta) ส่วนในปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว