ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วิธีปฏิบัติตัว 8 ข้อ กรณีโควิด19 ลงปอด และต้องรอเตียง

วิธีปฏิบัติตัว 8 ข้อ กรณีโควิด19 ลงปอด และต้องรอเตียง Thumb HealthServ.net
วิธีปฏิบัติตัว 8 ข้อ กรณีโควิด19 ลงปอด และต้องรอเตียง ThumbMobile HealthServ.net

แนะนำโดย นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน แพทย์เชี่ยวชาญโรคปอด

วิธีปฏิบัติตัว 8 ข้อ กรณีโควิด19 ลงปอด และต้องรอเตียง HealthServ
วิธีปฏิบัติตัว “กรณี โควิด19 ลงปอดแต่ต้องรอเตียง”
แนะนำโดย นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน แพทย์เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอดและวิกฤตบำบัด ในสหรัฐอเมริกา

1.ถ้าเหนื่อยง่าย ให้สงสัยว่าโควิดลงปอดไว้ก่อน

เมื่อไร่ถึงจะเรียกว่าเหนื่อย 
  • ท่านที่รู้ตัว เชื่อสันชาตญาณตนเองในจุดนี้ได้เลย
  • หากท่านที่ไม่แน่ใจ ประเมินได้คร่าวๆ จาก 2 วิธี 
    1) ถ้าเคยทำกิจกรรมปกติแล้วเหนื่อย ให้สงสัยไว้ก่อน เช่น หากเดินไปมาในห้อง หรือลุกนั่งยืนแล้วเหนื่อย หรือ นั่งยองๆ แล้วลุกแล้วเหนื่อย หรือ กลั้นหายใจสัก 10-15 วินาที 
    2) ใช้เครื่องวัดอ๊อกซิเจน ปกติคนทั่วไปอ๊อกซิเจนจะอยู่ที่ ระดับ 97-100% แต่หากตกลงถึง 94% เกรงว่าโควิดอาจจะลงปอดแล้ว

2. นอนคว่ำ 

การนอนคว่ำมีประโยชน์ เพราะปกติ 2 ใน 3 ปอดจะอยู่ทางด้านหลังของร่างกาย เวลานอนหงาย น้ำหนักตัวและน้ำหนักหัวใจจะกดลงไปที่ปอด ทำให้ปอดด้านหลังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
 
ท่านอนคว่ำ จะทำให้ปอด 2 ใน 3 ด้านหลัง ไม่มีการกดทับ ปอดก็สามารถทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณอ๊อกซิเจนที่ได้รับก็จะสูงขึ้น 
 
การนอนคว่ำทำอย่างไร
กอดหมอนไว้ได้ตัว นอนคว่ำ หันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง หากใบเดียวยังนอนไม่สบาย อาจพับหมอนหรือเพิ่มหมอนเป็น 2-3 ใบได้ 
 
กรณีท่านที่นอนคว่ำไม่ได้
เพราะอาจจะมีอาการปวดหลัง หรือมีหน้าท้องใหญ่ หรือตั้งครรภ์อยู่ ให้ใช้การนอนตะแคงแทนได้ ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่ในการนอนตะแคง แนะนำให้นอนตะแคงเฉียง ให้ลำตัวเอียง 45 องศากับพื้น แทนที่จะเป็นการคะแคงข้าง (ตรงๆ 90 องศา) จะได้ประโยชน์มากกว่า แต่หากทำไม่ได้ ก็สามารถทำนอนตะแคงข้างได้เช่นกัน อาจสลับซ้ายขวาได้ 
 
กรณีสตรีตั้งครรภ์
หากอายุครรภ์มาก ท้องจะใหญ่ขึ้น มดลูกจะกดเบียดเส้นเลือดดำใหญ่บริเวณช่องท้องด้านขวา (เป็นเส้นที่นำเลือดที่ใช้แล้วจากขาหรือช่องท้องกลับเข้าไปที่หัวใจส่งกลับไปฟอกที่ปอด) ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก อาจเกิดอาการหน้ามืดได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดทานอาหารไม่ได้ หรือดื่มน้ำไม่พอด้วย มีอาการเพลีย อาจจะมีโอกาสให้เกิดลิ่มเลือดได้  และเรารู้ว่าในการเกิดโควิดทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดขึ้นสูงเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ  ฉะนั้นสำหรับสตรีตั้งครรภ์ แนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้ายลง เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับเส้นเลือดดำใหญ่น้ั้น ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก การตะแคงซ้ายนี้ ให้ตะแคงคว่ำเล็กน้อย ก็จะดีกว่า
 

3. วิธีป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด

เนื่องจากโควิดทำให้เกิดการอับเสบเยอะ เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายเยอะ และบริเวณที่จะเกิดอุดตันก่อนก็คือบริเวณ ขา หากเกิดอุดตันเป็นก้อนใหญ่ๆ มีโอกาสที่จะมีการเคลื่อนตัวไปยังบริเวณปอด อาจทำให้การหายใจล้มเหลวได้ 
 
เมื่อนอนคว่ำ (กรณียังเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ อาจทำให้เหนื่อย) ให้เคลื่อนไหวขา เช่น งอเข่า งอเข้างอออก หรือเหยียดปลายเท้าสุดๆ แล้ว ดึงเข้าหาตัวสุดๆ เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนน่องและส่วนขา ทำซ้ำๆบ่อยๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ไม่เกิดการนิ่งขังของเลือด ที่อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดในที่สุด
 
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันอีกประการคือ การดื่มน้ำมากๆ จะทำให้ร่างกายมีสารน้ำเพียงพอ เลือดไม่ข้นหนืด โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดจะลดลง และทำให้ไม่ค่อยเพลียมาก หากขาดน้ำ โอกาสที่จะเพลียมากๆมีเยอะ บางคนอาจมึนหัว หน้ามืดง่าย ปริมาณที่เหมาะสมคือวันละ 2-2.5 ลิตร อย่ามากเกินไป เพราะจะเป็นอันตราย จะทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจางลง อาจชักได้ การทานเฉลี่ยไปทั้งวัน

4. ทานอาหารให้พอ 

ถ้าทานอาหารได้ให้ทาน หากทานได้ไม่ดี ให้ทานน้ำเกลือแร่และพลังงาน เช่น ผงเกลือแร่ที่ทานเวลาท้องเสีย หรือน้ำเกลือแร่ที่ทานเวลาออกกำลังกายก็ได้ หากไม่มี ให้ใช้น้ำตาลและเกลือในห้องครัวผสมน้ำได้ อัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำแก้วใหญ่ๆ ก็เพียงพอ เพราะเวลาป่วย ร่างกายจะต้องการพลังงานจากน้ำ น้ำตาลและเกลือแร่  ช่วยลดการเพลีย มีแรง เลือดไม่ข้นหนืด เกิดลิ่มเลือดได้ยากขึ้น
 

5. ทานยาประจำตัวสม่ำเสมอ อย่าขาด 

หากขาดยาประจำตัว อาจทำให้โรคกำเริบได้  และจะเป็นอันตราย
ยาที่ต้องดูเป็นพิเศษ 3 ตัว 
1) ยากลุ่มขับปัสสาวะ ชนิดใดก็ตาม หากท่านทานน้ำไม่ค่อยได้ แนะนำให้ลดยาลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป หากไม่แน่ใจ ให้ปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลขณะนั้น

2) กลุ่มลดความดันโลหิตสูง หากท่านเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีเครื่องวัด แนะนำให้วัดประจำ เช้า กลางวัน เย็น หรือทันทีที่มีอาการผิดแปลกไป เพราะเกรงว่าความดันจะต่ำ (ความดันสูงไม่เป็นอันตราย) อาจจะทำให้มีอาการช็อค หน้ามืด หัวใจหยุดเต้นได้ หากมีอาการค่อนข้างไปทางต่ำ เช่น 90/60 หรือต่ำกว่านั้น ให้งดยาความความดันโลหิตสูง 
 
ถ้าไม่มีเครื่องวัดความดัน ให้สังเกตการทานอาหาร หากยังทานอาหาร ทานน้ำได้ดีอยู่ สามารถทานยาความดันต่อได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าทานอะไรไม่ค่อยลง ทานอาหารไม่ได้ ทานน้ำก็ไม่ได้ ต้องพยายามงดทานยาก่อน 
 
หากท่านทานยาลดความดันอยู่หลายตัว แล้วมีความจำเป็นที่ท่านทานอาหาร ทานนำไม่ได้ ถ้าจะงด แนะนำให้งดแค่ตัวเดียวก่อน อย่างดทีเดียวทุกตัว เพราะอาจจะมีปัญหาได้ ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ที่รักษาท่านเพื่อขอคำแนะนำ

3) กรณีเบาหวาน โควิดอาจทำให้เบาหวานกำเริบหรือน้ำตาลสูงหรือต่ำได้ ดังนั้น การตรวจน้ำตาลสม่ำเสมอเป็นความจำเป็น โดยให้ตรวจ 4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน ถ้าน้ำตาลต่ำ หากใช้ยาอินซูลินอยู่ อาจจะต้องงดอินซูลิน ถ้าใช้ยากลุ่มที่เป็นยากินที่ลดน้ำตาลได้ ให้ลดยากลุ่มนี้ลง หากมีน้ำตาลต่ำ เพราะถ้าน้ำตาลต่ำและมีโควิดกำเริบ จะเป็นอันตรายได้ ควรตรวจระดับน้ำตาลเรื่อยๆ ว่าอยู่ในระดับไหน ถ้ากลับมาสูงมากๆ เช่นเกิน 200 ก็ใช้ยาอินซูลินได้ แต่ถ้าอยู่ในระดับ 100 (ต่ำมาก) กินอะไรก็ไม่ได้ ก็ไม่ควรใช้ เพราะจะเป็นอันตรายเสียด้วยซ้ำ
 

6. การเข้าห้องน้ำ 

เวลาเป็นโควิดและอาการลงปอดรุนแรง แม้กระทั่งในโรงพยาบาลก็ตาม พบว่า คนไข้ไปเข้าห้องน้ำ เบ่งปัสสาวะ อุจจาระ แล้วมีอาการหน้ามืด เป็นลม เสียชีวิต แต่กรณีเกิดในโรงพยาบาล สามารถทำการปั้มหัวใจช่วยชีวิตได้ทัน แต่หากอยู่บ้านหรือ ฮอลพิเทล อาจช่วยไม่ทันได้ เพราะเวลาเบ่งหรือถ่ายอุจจาระในห้องน้ำ ทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มสูงขึ้น ลดปริมาณเลือดที่จะเข้าสู่หัวใจได้ อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ 
 
ดีที่สุดคือขับถ่ายข้างเตียง ใช้กระโถน คอมฟอร์ทร้อย กระดาษปู หรืออะไรก็ได้ที่หา ไม่ต้องอาย ไม่ต้องห่วงสุขลักษณะ เพราะเมื่อโควิดลงปอดแล้ว ชีวิตสำคัญที่สุด มีหลายรายที่ไปเข้าห้องน้ำแล้วแย่ จึงอยากเน้นย้ำไว้ 
 
หากมีอาการท้องผูกให้ทานยาระบายอ่อนๆ ทานน้ำมากๆ เพื่อจะไม่ต้องเบ่ง
 
ถ้าจะเข้าห้องน้ำ อย่าล็อกประตูเด็ดขาด และควรบอกคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย
 

7. ยาลดไข้ 

แนะนำให้ทานพาราเซตามอล ไทลินอล เท่านั้น 
 
การทานให้ทานได้เลย เมื่อไข้ต่ำๆ หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ไม่ต้องรอให้มีไข้สูง หนาวสั่น เพราะจะยิ่งทำให้ทรมาน ยิ่งถ้ามีไข้สูง ร่างกายใช้พลังงานเยอะ ทำให้อ่อนเพลียมากขึ้นกว่าเดิม
 
ยากลุ่มที่ไม่แนะนำ คือกลุ่ม NSAID เช่น mefenamic acid (ponstan) ที่สตรีทานเมื่อปวดประจำเดือน  diclofenac (voltaren) ที่เป็นยากิน แต่ถ้าเป็นชนิดยาทา ใช้ได้ กลุ่ม ibuprofen หรือ naproxen เหล่านี้ อย่าทาน เนื่องจากยากลุ่มนี้ อาจทำให้ไตวายได้ 
 
ยาอื่นๆ ที่ควรมีติดบ้านและทานได้ เช่น เกลือแร่ ยาแก้อาเจียน
 
ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ทานได้ แต่ไม่ควรเกินปริมาณที่กำหนด เช่น หากทานฟ้าทะลายโจรเกินกำหนดอาจทำให้ตับวายได้ หรือถ้าทานแล้วไม่ดีขึ้น ไม่ต้องเพิ่มขนาด/ปริมาณยา ให้ทานเท่าที่กำหนดไว้โดยกรมแพทย์แผนไทย 
 
 
8. หมั่นติดต่อกับครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ เพื่อแจ้งอาการสม่ำเสมอ
เมื่อป่วยและแยกตัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ การติดต่ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อทราบอาการ และรับความช่วยเหลือได้ทัน หากขาดการติดต่อไปนานผิดสังเกต หรือกรณีต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
 
วิธีปฏิบัติตัว 8 ข้อ กรณีโควิด19 ลงปอด และต้องรอเตียง HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด