องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) จัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด ได้บริษัทแล้ว ประหยัดลง 400 ล้านบาท เร่งส่งมอบ สปสช. กระจายให้กับประชาชนก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าหลังจากนี้จะทำให้ราคาATK ในท้องตลาดราคาต่ำลงมากกว่าในปัจจุบัน
นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค โดยวานนี้ (10 สิงหาคม 2564) องค์การฯ ได้ให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท (จากที่เชิญไป 24 บริษัท) เข้าร่วมเสนอราคา คณะกรรมการพิจารณาในขั้นต้นแล้วพบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 16 บริษัท จึงได้ทำการเปิดซองราคาปรากฏว่าบริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคาชุดตรวจ ATK เหลือประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า มีบริษัทจำนวนมากเข้าร่วมเสนอราคา และสามารถส่งมอบได้ตามเวลาที่กำหนดเกือบทุกบริษัท การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม และยังทำให้ทราบว่าราคาของ ATK ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ยังสามารถปรับลดลงได้อีกเพื่อบริการประชาชนในช่วงวิกฤติและยากลำบาก
สำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไปนั้น องค์การฯ จะนำรายละเอียดเสนอให้โรงพยาบาลราชวิถี คณะทำงานกำกับติดตามการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ในหลักประกันสุขภาพ และคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมพิจารณาในวันนี้ (วันที่ 11 สิงหาคม 2564) และเร่งดำเนินการทำสัญญาเพื่อให้สามารถส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามที่ สปสช.กำหนด ให้ทันต่อความจำเป็นเร่งด่วน ของ สปสช. ในสถานการณ์การระบาดช่วง New High นี้ต่อไป
“การดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK ครั้งนี้ องค์การฯดำเนินการภายใต้หลักการของความถูกต้อง โปร่งใส แต่ยังคงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ความต้องการที่เร่งด่วน ประหยัดงบประมาณให้รัฐ และมีการประสานงานกับโรงพยาบาลราชวิถี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้ประชาชน และประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด” รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าว
องค์การเภสัชกรรม
11 สิงหาคม 2564