ย้ำชัด!! อาหารไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ผู้บริโภคมั่นใจได้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเข้าสู่วิกฤตหนัก เมื่อจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักหมื่น ผู้เสียชีวิตเข้าสู่หลักร้อย ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตอาหารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีพนักงานบางส่วนติดเชื้อโควิด-19 แน่นอนว่าสิ่งนี้คงทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเกิดความไม่มั่นใจว่าอาหารปลอดเชื้อจากโควิด-19 หรือไม่
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า จากข้อมูลในปัจจุบันไม่พบว่าอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นภาหะในการแพร่โรคที่เกี่ยวทางเดินหายใจ รวมถึงโควิด-19 และยืนยันว่าโควิด-19 ไม่สามารถติดต่อผ่านทางอาหารที่ปรุงสุกใหม่และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า โควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารโดยตรง ขณะที่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ทำการเก็บหลักฐานและตัวอย่างเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีครึ่งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมายังไม่พบผู้ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารโดยตรง และยังไม่มีรายงานว่าติดเชื้อทางการรับประทานอาหารที่มาจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 และทางการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์อาหาร ถึงแม้จะมีรายงานตรวจพบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 บนอาหารทะเลเนื้อสัตว์แช่แข็งและบรรจุภัณฑ์อาหาร พบว่าส่วนใหญ่เป็นซากเชื้อ มีจำนวนก็น้อยมากไม่เพียงพอก่อโรคในคน
ด้าน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า เชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจและแพร่เชื้อจากคนสู่คน ซึ่งการติดเชื้อวิธีนี้จะไม่มีผลต่อระบบทางเดินอาหารมากนัก แต่มีบางกรณีที่ไวรัสเข้าสู่ร่างกายและกระจายจากตำแหน่งทางเดินหายใจไปสู่ระบบทางเดินอาหาร โดยไวรัสมีการนำส่งจากปอดไปที่ลำไส้ผ่านทางกระแสเลือด ซึ่งไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหาร ขณะที่ ไวรัสที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินอาหารจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไม่ได้ และมีวิธีการเข้าสู่ร่างการแตกต่างกัน
นอกจากนี้ นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์เชี่ยวชาญโรคปอดประจำที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลเรื่องนี้ผ่านช่องทางยูทูป Doctor Tany ว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดโควิด-19 จากรับประทานอาหาร แต่ในทางทฤษฏีเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารได้ ซึ่งในบางกรณีอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการติดผ่านระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเพื่อความปลอดภัย มีบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวบรรจุภัณฑ์ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ควรแบ่งอาหารเป็นสัดส่วนก่อนเริ่มรับประทานเพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว หมั่นทำความสะอาดล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารสดใหม่ ปรุงสุกด้วยความร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียลขึ้นไป นาน 5 นาที เพื่อความปลอดภัย ปลอดเชื้อโควิด-19
เรื่องและภาพจาก CPF