รพ.นครพิงค์ เปิดเผยข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จ.เชียงใหม่ นับตั้งแต่ที่มีการระบาดระลอกที่ 3 ในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 4 ส.ค. 2564)
จ.เชียงใหม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดแล้ว 31 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 11,976 ราย (แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อนอกเรือนจำ 5,757 ราย , ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 6,219 ราย) หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 0.26 % ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของประเทศไทยเท่ากับ 0.82%(ติดเชื้อ 672,385 ราย,เสียชีวิต 5,503 ราย) และอัตราการเสียชีวิตของทั่วโลกเท่ากับ 2.13% (ติดเชื้อ 200,259,203 ราย เสียชีวิต 4,258,679ราย)
เพศ
ผู้เสียชีวิตเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพศชาย:หญิง เท่ากับ 18:13 หรือเท่ากับ 58.06%:41.94%
อายุ
พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต เท่ากับ 65.13 ปี เป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ถึง 70.97% ขณะที่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี เสียชีวิตน้อยกว่า เพียง 29.03% โดยผู้เสียชีวิตที่อายุมากที่สุดคือ 87 ปี และน้อยที่สุด 39 ปี
เชื้อชาติ
30 จาก 31 ราย เป็นชาวไทย และมี 1 รายที่เป็นชาวฝรั่งเศส
ประวัติสัมผัสความเสี่ยง
พบว่า เป็นการติดเชื้อในครอบครัวมากที่สุด 15 ราย (48.39%) รองลงมาเป็นการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 9 ราย (29.03%) เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 4 ราย (12.90%) ติดเชื้อในเรือนจำ 3 ราย (9.68%)
ระยะเวลานับจากเริ่มป่วยจนเสียชีวิต
น้อยที่สุดเพียง 4 วัน ไปจนถึงมากสุด 40 วัน โดยเฉลี่ยแล้วจะเสียชีวิต หลังจากเริ่มป่วย 17.48 วัน
ประวัติการรับวัคซีน
ผู้เสียชีวิตทั้งหมด ยังไม่เคยได้รับวัคซีน
ประวัติโรคประจำตัว
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่ามีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 อย่าง ถึง 26 ราย (83.87%) มีเพียง 5 รายที่ไม่มีโรคประจำตัว (16.13%) โดยพบโรคความดันโลหิตสูงในผู้เสียชีวิต 17 ราย (54.84%) เบาหวาน 12 ราย (38.71%) ไตวาย 6 ราย (19.35%) อ้วน 5 ราย (16.13%) ไขมันในเลือดสูง 4 ราย (10.34%) ไทรอยด์ 2 ราย (12.90%) และ โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจโต รูมาตอยด์ ตับอักเสบซี ถุงลมโป่งพอง ซีด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างละ 1 ราย
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดของจ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และ เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวาย และโรคอ้วน ประชากรกลุ่มนี้จึงเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงเป็นกลุ่มประชากรที่ควรได้รับวัคซีนโดยเร็ว
จัดทีมฉีดวัคซีนโควิดเชิงรุกถึงในชุมชน
จากตัวเลขความสูญเสียดังกล่าว รพ.นครพิงค์ ตระหนักถึงปัญหาดีว่า ชุนชนเป็นจุดที่มีประชากรกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด และ เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงวัคซีน มากที่สุดเช่นกัน กลุ่มงานการพยาบาลชุมชน รพ.นครพิงค์ จึงได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ในเขตอำเภอเมือง และอ.แม่ริม ในวันที่ 18,19 และ 26 สิงหาคม โดยในวันนี้ (18 สิงหาคม) ได้ออกหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ไปที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 4 แห่ง และชุมชนบ้านท่อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีผู้รับการฉีดวัคซีนรวม 120 คน ส่วนใหญ่ยังไม่พบผลข้างเคียงหลังการฉีด
ข้อมูลและภาพจาก
รพ.นครพิงค์
รพ.นครพิงค์ ฉีดวัคซีนโควิดเชิงรุกสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ถึงในชุมชน ‼️
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในจ.เชียงใหม่ พบว่า ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วจะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงวัคซีนอีกด้วย
กลุ่มงานการพยาบาลชุมชน รพ.นครพิงค์ จึงได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ในเขตอำเภอเมือง และอ.แม่ริม ในวันที่ 18,19 และ 26 สิงหาคม
โดยในวันนี้ (18 สิงหาคม) ได้ออกหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ไปที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 4 แห่ง และชุมชนบ้านท่อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีผู้รับการฉีดวัคซีนรวม 120 คน ส่วนใหญ่ยังไม่พบผลข้างเคียงหลังการฉีด